ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 07-10-2024

Wealth Weekly Report 07-10-2024
 

เลือกกอง HEDGE หรือ UNHEDGE?
  • ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าการแข็งค่าของเงินบาทที่ผ่านมาได้สะท้อนปัจจัยต่างๆ ไปมากแล้ว และมีโอกาสอ่อนค่ากลับไปสู่กรอบ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2024 ซึ่งจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลที่เริ่มขยายวงกว้างและรุนแรง ส่งผลให้ Dollar Index แข็งค่า อีกทั้งจากการที่ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ เพื่อลดแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทางเราจึงแนะนำกลยุทธ์ไม่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge) สำหรับการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาอ่อนค่าสู่ปัจจัยพื้นฐานได้ในระยะกลางถึงยาว ส่วนการลงทุนในระยะสั้น แนะนำกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) เพื่อลดความเสี่ยงจากโอกาสที่ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ในระยะสั้น
  • ทางเราประเมินว่าการปรับขึ้นของตลาดหุ้นจีนนั้นไม่ถาวร และนโยบายต่างๆ ที่ออกมาถูก Price in เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมองว่านโยบายที่รัฐบาลกำลังทำจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจจีนได้ จากนโยบายการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทุนของจีน ในอดีตจะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎระเบียบเป็นพื้นฐานของการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของตลาดทุนจีน ซึ่งนโยบายการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ และอาจไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย GDP ที่ 5% ในขณะที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย คาดว่าจะช่วยบรรเทาได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องเห็นการผ่อนปรนกฎระเบียบ เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจ และการบริโภค จึงแนะนำให้ทยอยสะสมเมื่อพักฐาน

TOPIC FOCUS

Hedge or Unhedge : Which strategy is better?

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 12% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่สิ้นเดือนมิ.ย. 2024 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนที่ 5% จากส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับไทยที่แคบลง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนส.ค. มียอดเกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ที่มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 0.1 พันล้านดอลลาร์ โดยเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของ GDP อย่างไรก็ตามเริ่มมีสัญญาณการอ่อนค่าของเงินบาท ตาม Dollar Index ที่แข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินเยน พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐฯ จากการปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด และธปท. ได้เข้าแทรกแซงค่าเงิน สะท้อนผ่านทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินแนวโน้มของค่าเงินบาท ดังนี้

  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ในเดือนก.ย. และส่งสัญญาณผ่าน Fed Dot Plot ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ทางเราคาดว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ย 0.25% ในปีนี้ แม้ว่าทางธปท. จะส่งสัญญาณไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามการตัดสินใจของเฟด โดยทางธปท. มีความกังวลว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ซึ่งหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนถึง 90.8% ของ GDP ในไตรมาส 1/2024 อย่างไรก็ตาม การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจะทำให้ภาระการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคลดลงและและกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวเช่นกัน
  • ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับไทยที่แคบลง ประกอบกับรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลต่อ Sentiment เชิงบวกเป็นแรงหนุนต่อเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าหุ้นและตราสารหนี้ไทยมากขึ้น โดยในเดือนก.ย. ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในหุ้นและตราสารหนี้ไทย 29,177.98 ล้านบาท และ 10,620 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามแรงซื้อในตลาดหุ้นได้สะท้อนปัจจัยบวกของนโยบายไปมากแล้ว และถึงจุดที่นักลงทุนจะประเมินว่านโยบายต่างๆ จะทำได้จริงหรือไม่

ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าการแข็งค่าของเงินบาทที่ผ่านมาได้สะท้อนปัจจัยต่างๆ ไปมากแล้ว และมีโอกาสอ่อนค่ากลับไปสู่กรอบ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2024 ซึ่งจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลที่เริ่มขยายวงกว้างและรุนแรง ส่งผลให้ Dollar Index แข็งค่า อีกทั้งจากการที่ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ เพื่อลดแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทางเราจึงแนะนำกลยุทธ์ไม่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Unhedge) สำหรับการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาอ่อนค่าสู่ปัจจัยพื้นฐานได้ในระยะกลางถึงยาว ส่วนการลงทุนในระยะสั้น แนะนำกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) เพื่อลดความเสี่ยงจากโอกาสที่ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ในระยะสั้น

China needs more than loose policy for economic resilience

หลังจาก 24 กันยายน 2024 รัฐบาลจีนได้ออกแพ็คเกจนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังถูกแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมา นักลงทุนบางส่วนให้ความเห็นว่าเป็นการอัดฉีดแบบ “บาซูก้า” แล้ว และช่วยผลักดัน GDP ให้สามารถเพิ่มขึ้น 5% ในสิ้นปี 2024 ได้ จึงทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นกว่า 20% ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน อย่างไรก็ดีทาง LH Bank Advisory ประเมินว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

นโยบายอุดหนุนตลาดทุนจีน จะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น โดยในอดีตพบว่าการอุดหนุนตลาดหุ้นจะส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้น และร่วงลงในระยะสั้น จึงประเมินว่าด้วยนโยบายดังกล่าวจะทำให้การปรับตัวขึ้นในรอบนี้ไม่ถาวร แต่สามารถลดความเสี่ยงขาลงได้ ซึ่งการพัฒนากฎระเบียบในตลาดที่ผ่านมา มักส่งผลให้หุ้นสามารถสร้างฐานใหม่ และปรับตัวขึ้นในระยะยาว ดังนั้นจึงประเมินว่าตลาดทุนจีนพร้อมที่จะกลับตัวเป็นขาขึ้นแล้ว เหลือเพียงแต่ความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ

การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินส่งผลให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวในระยะสั้น เนื่องจากทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย REPO 7 วันลง และเสริมสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจด้วยการลด Reserve Requirement Ratio (RRR) สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ ยังไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้น โดย Credit Impulse Index ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้พบว่าเงินฝากส่วนเกิน (Excess Saving) ของจีนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2018 อาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง สิ่งที่ต้องจับตามองคือหากรัฐบาลจีนยังไม่ออกมาตรการในการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน จะทำให้จีนเผชิญกับภาวะเงินฝืด ซึ่งยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จีนอาจเข้าสู่ Lost Decade คล้ายกับญี่ปุ่นในอดีต 

นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยไม่สามารถแก้ไขปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ล้นตลาดได้ เนื่องจากนโยบายให้รัฐบาลท้องถิ่นซื้อบ้านค้างสต๊อกในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น แต่พบว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้ใช้จ่ายมากขึ้น โดยนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงการต่อยอดจากนโยบายเดิม ซึ่งในอดีตชี้ว่าจะช่วยชะลอการปรับตัวลงของราคาที่อยู่อาศัยเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้ฟื้นฟูตลาดที่อยู่อาศัยในระยะยาว อีกทั้งนโยบายช่วยเหลือสภาพคล่องด้านอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ช่วยให้การซื้อขายที่อยู่อาศัยกลับมาคึกคักดังในอดีต เนื่องจากแม้ว่ารัฐบาลจะลดอัตราการดาวน์ที่อยู่อาศัยลง และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ช่วยให้ตลาดที่อยู่อาศัยไม่ซบเซาไปมากกว่านี้เท่านั้น และช่วยให้ยอดขายบ้านฟื้นตัวได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ 

ดังนั้นทางเรายังรอคอยนโยบายที่ช่วยให้อุปสงค์ของที่อยู่อาศัยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งหมายถึงความสามารถในการซื้อของชาวจีน ตัวอย่างจากประเทศไทยที่มีนโยบายกระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย จะพบว่าสามารถเพิ่มยอดขายได้ในระยะสั้นๆ จากประชาชนที่มีความสามารถซื้ออยู่แล้ว แต่ในท้ายที่สุดอุปสงค์จะลดลง เนื่องจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยบรรเทาภาวะซบเซาที่เกิดขึ้น แต่ยังต้องการนโยบายการคลังที่เข้ามาช่วยเสริมตลาดแรงงานและการบริโภค

แม้ว่านโยบายที่นำมาใช้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาความเชื่อมั่นทางธุรกิจได้ อย่างไรก็ดีทางเราเห็นสัญญาณความเอาจริงเอาจังในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะทยอยผ่อนปรนกฎระเบียบที่เคยบังคับใช้ ซึ่งมองว่าเป็นนโยบายสำคัญที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการบริโภคในประเทศ จึงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นจีนเมื่อพักฐาน

Weekly Report 07-10-2024

ประกาศ ณ วันที่ 07 ตุลาคม 2567

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง