Will the Rally Sustain? หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง (จากเดิมที่จะลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง) ในปีหน้า 4 ครั้งในปี 2025 และอีก 3 ครั้งในปี 2026 รวม 2.5% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงสู่ช่วง 2.75-3.00% ซึ่งการส่งสัญญาณสิ้นสุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและท่าทีที่ Dovish ขึ้นมาก จากการชะลอตัวลงของแรงกดดันด้านราคาและตลาดแรงงาน หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในภาวกระทิง แต่คำถามที่สำคัญคือ ตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะยั่งยืนแค่ไหน?
ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าFedจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2024 และจาก Bloomberg Consensus คาดการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรในปี 2024 ประมาณ 12% ดังนั้น ในช่วงต้นปีหน้าดัชนี S&P500 มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ โดยเน้นหุ้นเติบโตคุณภาพสูง (Quality Growth) และหุ้นที่ราคายังปรับตัวขึ้นช้ากว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม (Laggard) และแนะนำขายทำกำไรบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงก่อนการประชุมรอบเดือนมี.ค. 2024
Dollar feels the heat as Fed's dovish pivot site การประชุมของเหล่าธนาคารกลางครั้งสุดท้ายของปีทั้ง Fed, ECB และ BoE บ่งชี้ว่าดอกเบี้ยได้ถึงจุดสูงสุดของวัฏจักร โดยผลของการประชุม Fed และรายงานประมาณการทางเศรษฐกิจ (Fed Projection) แสดงหลักฐานว่าปี 2024 จะเกิดการปรับลดดอกเบี้ย “เร็วและแรง” ซึ่งล่าสุด Fed dot plot ประมาณการอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปีหน้าที่ 5.50% จะปรับลงแรง -75bps สู่ระดับ 4.75% ขณะที่ Fed Watch Tool มองปรับลดตั้งแต่ 1H2024 และปรับลดถึง -150bps. และจากถ้อยแถลงของประธาน Fed มองภาพเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงชะลอตัวจนถึงโอกาสเกิดภาวะถดถอย ซึ่งสอดคล้องกับ LH Bank Advisory ประเมินไว้ ทั้งนี้ทางเราคาดต่อว่าการทะยานของราคาสินทรัพย์ลงทุนด้วยอานิสงส์ที่ Fed ให้มุมมองปรับลดดอกเบี้ยและสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเร็วนั้น เป็นเหตุให้ความเสี่ยงเพิ่มมาเป็นเงาตามตัว ดังนั้นปีหน้าการลงทุนจะมีความผันผวนสูง และยังมีปัจจัยที่ทำให้เราเห็นดัชนีดอลลาร์ (US Dollar Index) กลับขึ้นมาอีกครั้ง
จากปัจจัยข้างต้นจึงบ่งชี้ว่าการปรับตัวอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์ในเวลานี้อาจจะเป็นชั่วคราว แม้ดัชนีดอลลาร์จะไม่ปรับพุ่งแรงจนทำสถิติใหม่เท่ากับช่วงที่มีปัจจัยพิเศษ อย่าง ภาวะสงคราม แต่สามารถสร้างความผันผวนแก่ตลาดการลงทุน ดังนั้นใน 1H2024 การลงทุนสินทรัพย์ประเภทไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (No Hedge) หรือใช้การป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจ (Dynamic Hedge) ยังมีความน่าสนใจ ขณะที่จากการประเมิน Risk & Reward พบว่า ตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์ในสถานการณ์ตลาดลงทุนปีหน้าได้ดี อย่างไรก็ตามทางเรายังให้โอกาสที่จะเกิดภาวะ Hard Landing อยู่ จึงแนะนำรอจังหวะ “Buy on Dip” ทองคำ ในช่วงที่ทิศทางสกุลเงินดอลลาร์เกิดความไม่แน่นอนกดดันให้ราคาทองคำปรับฐานแรง จึงเข้าซื้อทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)
BoJ Keeps Ultra-loosen Policy, Nikkei 225 End Higher? จากการประชุม BoJ ครั้งสุดท้ายของปี เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 23 มีมติให้คงนโยบายดอกเบี้ยติดลบ โดยอยู่ในระดับ -1% และคงนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) โดยกำหนดอัตราอ้างอิงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% สอดคล้องที่ตลาดคาด อย่างไรก็ตามทาง Bloomberg คาดว่า BoJ จะยกเลิกการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงเดือนเมษายน 2024 และจะขยายกรอบนโยบาย Yield Curve Control ในการประชุมเดือนกรกฎาคม 2024 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ประเมินว่า Core CPI ในไตรมาส 3 ปี 2023 อยู่ที่ระดับ 2.8% จะปรับตัวลดลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย 2% ในปี 2024 ประกอบกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลพวงไปยังค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) (จากบทความ 15 พ.ย. 23) ให้มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ในที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทางผู้ว่าการ BoJ ให้น้ำหนัก ตามคำแถลงการณ์ในการประชุมที่ผ่านมาว่า หากมองเห็นแนวโน้มค่าจ้างที่แท้จริงปรับตัวขึ้นมาได้และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จะเป็นสัญญาณให้ BoJ พิจารณาการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น ดังนั้นทาง LH Bank Advisory มองว่า BoJ มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทางเราจึงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนหาก BoJ ยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ดังนี้
แม้ว่าสถานการณ์ที่นโยบายการเงินของ BoJ เกิดความไม่แน่นอน จะเป็นเหตุให้นักลงทุนอาจมีพฤติกรรมการลงทุนเชิงลบ เนื่องด้วยนักลงทุนมักให้น้ำหนักของการสูญเสียมากกว่ากำไรถึง 2.5 เท่า นักลงทุนจึงเกิดความกลัวการสูญเสียโดยฉับพลันจึงยังคงอยู่ในใจนักลงทุนเสมอ และทำให้นักลงทุนพลาดโอกาสลงทุนจากความกลัว ซึ่งในช่วงต้นปีนี้ปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบันบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังสามารถเติบโตได้ และ BoJ ยังมีการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่งอยู่ จึงเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei 225 INDEX) ขณะที่มูลค่า P/E Ratio พบว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ดังนั้นในภาวะที่ตลาดแกว่งตัวในกรอบขาขึ้นเพื่อรอความชัดเจนของการดำเนินนโยบาย ทาง LH Bank Advisory จึงแนะนำการลงทุนในกองทุนที่มีกลยุทธ์ Downside Protection โดยมีเป้าหมายคือ จำกัดความเสี่ยง (limit risk) แต่ไม่เสียโอกาสการเข้าลงทุนยามภาวะตลาดปรับตัวขึ้น
ประกาศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2566