ไบเดนอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจหนีถดถอย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงสดใสและปรับตัวสูงขึ้นจนเวลานี้ดัชนี S&P 500 อยู่เหนือ 4,850 จุด เข้าใกล้ระดับเป้าหมายเฉลี่ยของดัชนีปีนี้ที่ 4,950 จุด แต่กระนั้นคำถามที่ยังคาใจนักลงทุน คือการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อย่างไร หาก Fed คงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงและอาจไม่ปรับลดในไตรมาสแรกของปีตามที่ตลาดคาดหวัง ทั้งนี้ทาง LH Bank Advisory ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า นโยบายการคลัง (Government Spending) จะเป็นตัวหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลีกหนีภาวะถดถอยไปได้ โดยหากย้อนไปในอดีต พบว่า งบกลางสหรัฐฯ ถูกใช้จ่ายมากขึ้นตั้งแต่กลางปี 2022 จากพรบ. Inflation Reduction and CHIPs Acts. พร้อมกับงบรายจ่าย 5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและจ้างงาน หรือที่เรียกว่า Bidenomics ทำให้มูลค่า GDP ส่วนของรัฐบาลและการลงทุนใน 4Q2023 ปรับสูงขึ้นถึง 4.3%YoY จากอัตราการเติบโต GDP ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 5.3%YoY หากพิจารณาไปที่แหล่งที่มาของงบประมาณ พบว่าสถานการณ์หนี้สาธารณะยังคงชนเพดานหนี้ ทำให้เราได้เห็นการยื่นขอวงเงินชั่วคราวกับสภาคองเกรสเพื่อไม่ให้เกิด Government Shutdown ครั้งที่ 3 ในยุคของรัฐบาลไบเดน โดยล่าสุดสภาคองเกรสได้อนุมัติวงเงินชั่วคราวเพื่อใช้จ่ายภาครัฐจนถึงมี.ค. ไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา และจากแผนงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลไบเดนทำให้การขออนุมัติดังกล่าวยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ตามใน 2Q2024 เป็นต้นไป ทางเราคาดว่าการขออนุมติวงเงินชั่วคราวเพื่อใช้จ่ายของรัฐบาลมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะเริ่มเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ แม้ท้ายที่สุดสภาคองเกรสจะอนุมัติ แต่ด้วยผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่กลุ่ม สส. รีพับลิกันได้ที่นั่งมากขึ้นย่อมพยายามกำหนดเงื่อนไข จนถึงขั้นตัดงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลลง ทำให้ส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะสัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐฯ (G) คิดเป็น 17% ของ GDP ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องการปรับลดงบประมาณจะไปเพิ่มความเสี่ยงให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน จากสำรวจของผู้ประกอบการริชมอนด์ (Richmond) พบว่า แนวโน้มความไม่แน่นอนของทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินของ Fed ที่มีโอกาสตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงและยาวนานกว่าตลาดคาด เริ่มส่งผลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นผู้ผลิตทั้งในภาคสินค้าและบริการ สะท้อนไปที่ดัชนีการผลิตและภาคบริการในริชมอนด์ (Richmond) เดือนธ.ค.ปรับตัวเข้าสู่แดนลบ -11 และ -2 ตามลำดับ ทำให้ทางเราคาดว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ มีโอกาสเห็นผู้ประกอบการปรับลดการจ้างงานสูงขึ้น โดยมีข้อบ่งชี้ไปที่จำนวนผู้ขอยื่นรับสวัสดิการต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ปรับตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต Covid-19 อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่มองโลกในแง่ดีและเฝ้ารอภาพการว่างงานที่สูงขึ้น เพื่อให้ Fed สามารถปรับลดดอกเบี้ยนั้น ทางเราคาดว่าอาจเห็นการปรับขึ้นของดัชนี S&P500 ได้อีกเพียงเล็กน้อย เพราะตลาดปรับตัวขึ้นมาแล้ว 6% จากการประชุม Fed ในเดือน ธ.ค.2023 ซึ่งเป็นหลักฐานว่าตลาดรับรู้ข่าวปรับลดดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว ดังนั้นทางเรามีมุมมองให้ระมัดระวังการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ที่ Upside มีอยู่จำกัด พร้อมแนะนำทำกำไรบางส่วน เพื่อล็อกผลตอบแทนจากตลาดหุ้น และ Let Profit Run ส่วนที่เหลือ ขณะที่การกระจายพอร์ตลงทุนไปยังตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจด้วยผลตอบแทน (Yield) ที่อยู่ในระดับ 4% และเพิ่มโอกาสสร้างกำไรส่วนต่างราคา (Capital gain) จากการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed อีกด้วย
Oil Prices Just Flipped into Backwardation ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงมาประมาณ 30% จากระดับสูงสุดเมื่อปลายเดือนก.ย. 2023 สาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอุปทานน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มนอกโอเปก (non-OPEC) ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบที่อยู่ในพื้นที่จำกัด และไม่ได้กระทบต่อแหล่งผลิตน้ำมัน เมื่อพิจารณาจาก Forward Curve ของสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่มีรูปแบบ Contango ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากล่าวคือสัญญาที่มีการส่งมอบเดือนใกล้มีราคาต่ำกว่าสัญญาเดือนไกล ซึ่งบ่งชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาอุปทานที่ล้นตลาด เนื่องจากอุปทานน้ำมันจากสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งผลิตออกมาเพื่อตอบโต้การจำกัดอุปทานน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสมาชิก OPEC+ เกี่ยวกับการลดกำลังการผลิต โดยแนวโน้มการบริโภคน้ำมันคาดว่าจะชะลอตัวลงในปีนี้ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมนอาจล้นตลาด อย่างไรก็ตามจาก Figure 3 พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา Forward Curve แสดงรูปแบบ Contango ในส่วนต่างของสัญญา 5 คู่ที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น (Partial Contango) ในขณะที่ส่วนที่เหลือยังเป็นรูปแบบ Backwardation จึงเป็นการสะท้อนว่าตลาดกังวลภาวะอุปทานล้นตลาดในระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Forward Curve ได้กลับมาเป็นรูปแบบ Backwardation (สัญญาที่มีการส่งมอบเดือนใกล้มีราคาสูงกว่าสัญญาเดือนไกล) ซึ่งสะท้อนภาวะอุปสงค์มากกว่าอุปทาน หลังจากสภาพอากาศที่หนาวจัดทั่วสหรัฐกำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในรัฐนอร์ทดาโคตาและรัฐอื่นๆ ของสหรัฐฯ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องปิดทำการ ประกอบกับราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นหลังมีรายงานว่ากองทัพยูเครนส่งโดรนโจมตีโรงงานน้ำมันของรัสเซีย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปทานพลังงานในตลาดโลก นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มฟื้นตัวจากระดับสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับต่ำ และแม้ว่าจะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่การบริโภคภายในประเทศและการส่งออกของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทาง LH Bank Advisory มีมุมมองเป็นกลางกับกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบ WTI มีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นไปบริเวณ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ จำนวน 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1/2024 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำมันทั่วโลกที่ลดลงและราคาน้ำมันดิบที่ลดลงนั้น คาดว่ากลุ่ม OPEC+ มีโอกาสขยายเวลาการลดกำลังการผลิตออกจนถึงสิ้นไตรมาส 2/2024 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันในระยะสั้น แต่ upside เริ่มจำกัด จากแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันโลกที่ชะลอตัว
ประกาศ ณ วันที่ 29 มกราคม 2567