Keeping an eye on inflation อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นในไตรมาสแรกเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการขึ้นราคาในช่วงต้นปี ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสองเริ่มเห็นสัญญาณอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลง เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดแรงงานและการบริโภคภายในประเทศ สะท้อนผ่านตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. และยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. ทรงตัวที่ระดับ 0%MoM ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งทาง LH Bank Advisory ได้ประเมินแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดังนี้
ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยรวมอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง แต่แนวโน้มที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงจนแตะเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ จนกระทั่งกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดดอกเบี้ยในที่สุด ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงข้างต้น ทางเราแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ Valuation ค่อนข้างแพง และหาจังหวะเข้าลงทุนช่วงตลาดปรับฐาน (Buy On Dip) ในหุ้นปลอดภัย (Defensive Stocks) ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและความเสี่ยงต่ำ
Tax tariff, nothing happens? รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน สูงสุด 100% ตามมาตรา 301 โดยเป็นสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องด้วยจีนสามารถผลิตสินค้าเหล่านี้ในต้นทุนที่ถูกกว่า จึงสามารถเข้าครองตลาดส่วนใหญ่ของโลกได้ ดังนั้นสหรัฐฯ จำเป็นต้องปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ และต้องการขยายฐานเสียงการเลือกตั้งให้มากขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลของ โจ ไบเดน ได้ออกมาตรการ CHIPs โดยเข้ามาอุดหนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่ยังไม่สามารถผลิตในต้นทุนที่ต่ำกว่าสินค้าจากจีนได้ จึงยังมีการนำเข้าจากจีนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปี 2023 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนประมาณ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ แต่จากการประเมินของ The White House พบว่าจะกระทบต่อสินค้านำเข้ามูลค่าเพียง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือมีสัดส่วนประมาณ 4% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีน ซึ่งรายการสินค้าที่เริ่มบังคับใช้มาตรการในปี 2024 มีการพึ่งพาสินค้าจากจีน ในสัดส่วนต่ำกว่า 10% ทางเราประเมินว่าในระยะสั้นมาตรการกีดกันการค้านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามสินค้าประเภทแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่จะถูกบังคับใช้ในปี 2026 ซึ่งมีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนสูงถึง 70% นั้นจะส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ว่าทางใด ในขณะที่แร่ลิเทียมสำรองของสหรัฐฯ มีมากถึง 9.1 ล้านตัน และจีนมีเพียง 5.1ล้านต้น แต่จีนยังสามารถผลิตให้ต้นทุนต่ำกว่าได้ บ่งชี้ว่าในอนาคตไม่ว่าจะนำเข้าแบตเตอรี่ดังกล่าวจากประเทศอื่น หรือผลิตเองภายในประเทศจะทำให้ราคาแบตเตอรี่สูงขึ้น อีกทั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเป็นสินค้าสำคัญในอุปกรณ์ที่สามารถกักเก็บไฟฟ้าได้ ด้วยเหตุนี้ห่วงโซ่อุปทานจะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงคาดว่ากำแพงภาษีจะกดดันต้นทุนการผลิตของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ กำแพงภาษีนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทในจีน ที่ทำการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มแบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากสหรัฐฯ ที่ตั้งกำแพงภาษีแล้ว ทางสหภาพยุโรป มีแผนการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งสหภาพยุโรปมีแนวโน้มจะประกาศใช้มาตรการในเดือน ก.ค. ปีนี้ ซึ่งในปี 2023 จีนส่งออกไปสหภาพยุโรปประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ ประเมินว่ามาตรการภาษีนำเข้าฉบับใหม่ของสหรัฐฯ จะกระทบต่อบริษัทส่งออกจีน ทั้งนี้จีนและสหรัฐฯ เริ่มหาแหล่งผลิตสินค้าใหม่ ที่ประหยัดต้นทุนการผลิต และเพิ่มแหล่งกระจายสินค้าได้มากขึ้น โดยอาเซียนได้รับอานิสงส์จากประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางเราพบว่าอาเซียนนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2023 มูลค่าสินค้านำเข้าสูงถึง 4.3 แสนล้านดอลลาร์ โดยนำเข้ามากกว่า 80% ประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงประเมินว่าในระยะสั้นกำแพงภาษีจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทในจีน ขณะที่ระยะยาวพบว่าจีนมีทางเลือกในการผลิตและกระจายสินค้าได้ จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีนเมื่อพักฐาน
กระแสเทคโนโลยี หนุนใช้ ‘ไฟฟ้า’ เพิ่ม 3 เท่าในอีก 2 ปี จากรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ออกมาตามคาด ทำให้ทาง LH Bank Advisory มองว่าเส้นผลตอบแทน (Yield Curve) ที่ชันตอนนี้เป็น Bull Steepening ซึ่งให้น้ำหนักปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ จนเป็นเหตุให้ผลตอบแทนระยะยาว (Bond Yield) ย่อตัวลงในระยะสั้น มาที่ 4.4% แต่หากดูตามค่าเฉลี่ยถึงปี 2000 จะพบว่า Bond Yield อยู่แถวระดับ 3.25% บ่งชี้ว่าระดับ Bond Yield ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการเลือกหุ้น Valuation จะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องคำนึงถึง เพราะเป็นจังหวะที่หุ้นมูลค่า (Value) จะได้เปรียบหุ้นเติบโต (Growth) กลุ่มโรงไฟฟ้า (Electricity Utilities) เป็นกลุ่มหุ้นมูลค่า ที่มีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว จากปริมาณความต้องการไฟฟ้าของกลุ่มเทคโนโลยี สะท้อนหลักฐานจากรายงาน IEA ที่เปรียบเทียบความต้องการใช้ไฟฟ้าในการค้นหาด้วย Google ใช้ไฟฟ้า 0.3 Wh ต่อหนึ่งคำขอ ขณะที่ Open AI ของ Chat GPT ใช้ไฟฟ้า 2.9 ต่อหนึ่งคำขอ ดังนั้นค่าเฉลี่ยการค้นหาของทั่วโลกอยู่ที่ 9 พันล้านครั้งต่อวัน เท่ากับมีปริมาณใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบ 10 TWh ด้วยเหตุนี้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าจะสูงถึง 620-1,050 TWh ในปี 2026 จาก 160 TWh ปี 2022 หรืออัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 40-60% ตัวเลขดังกล่าวครอบคลุมแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ รวมถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วย ซึ่งล้วนเป็นพลังงานสะอาดเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของโลกที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) จากปัจจัยข้างต้นจึงสนับสนุนให้ตลาดปรับประมาณกำไรปี 2024 ของกลุ่ม Utilities มาที่ 20.45 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือ 9% จากสิ้นปี 2023 ขณะที่ราคาที่ซื้อขายในปัจจุบันมีมูลค่า P/E Forward ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ทั้งนี้ด้วยแนวโน้มกำไรที่เติบโตไปพร้อมกับอานิสงส์ของกระแสเทคโนโลยี และมูลค่าที่น่าสนใจ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ดึงดูดเม็ดเงินไหลเข้ากลุ่ม Utilities ETF อย่างโดดเด่น ตาม Figure ที่ 6 กองทุนลงทุนกลุ่ม Utilities ที่น่าสนใจ ทางเราแนะนำ PRINCIPAL GIF ที่มีกองทุนหลัก Lazard Global Listed Infra และเน้นลงทุนในบริษัทโครงสร้างพื้นฐานหลากหลายประเทศทั่วโลกประมาณ 25 – 50 บริษัท แต่จะมีสัดส่วนการลงทุนหลักในกลุ่มประเทศยุโรป 37% อเมริกาเหนือ 32% สหราชอาณาจักร 20% ที่เหลืออยู่ในทวีปเอเชีย และกระจายการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม ไปที่ กลุ่มสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า แก๊ส ประปา) 54% ส่วนที่เหลือกระจายการลงทุนในทางด่วน รางรถไฟ หรือสนามบิน เป็นต้น มูลค่า P/E Forward อยู่ที่ 17.2x ต่ำกว่าดัชนี MSCI World Core Infra. และ Dividend Yield อยู่ที่ 4.3% สูงกว่าดัชนีดังกล่าว ทั้งนี้กลยุทธแนะนำนักลงทุนทยอยสะสม เพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนระยะยาว ด้วยสัดส่วนเงินลงทุน 5-10%ของพอร์ตการลงทุน เพราะกองทุนหลักเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กิจการมีความผูกขาด ทำให้อัตราการทำกำไรของธุรกิจและรายได้มีความผันผวนต่อภาวะเศรษฐกิจต่ำ แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ล่าช้า กดดันผลตอบแทนกองทุนจากส่วนต่างราคาและปันผลให้ Underperform กว่าการลงทุนโดยตรงไปที่กลุ่มหุ้น Electricity Utilities ซึ่งเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน Momentum
ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2567