ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 25-03-2024

Wealth Weekly Report 25-03-2024
 

CENTRAL BANK DECISION
  • ผลการประชุม FOMC ออกมาเป็นไปตามคาด Fed Dot Plot ยังคงมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้ง หรือ 0.75% ในปีนี้ เนื่องจาก Fed คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวลง สะท้อนภาพการลดอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป อย่างไรก็ตามประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยกดดันสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ดังนั้นจึงแนะนำกองทุน ABGFIX เพื่อรับประโยชน์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจเพิ่มระดับความเข้มงวดของนโยบายการเงิน คือ ยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก -0.1% สู่ระดับ 0%-0.1% ซึ่งตลาดได้รับรู้ประเด็นดังกล่าวมาตลอดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาว่า BOJ จะปรับท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินมาเข้มงวดขึ้น หลังเศรษฐกิจขยายตัว และการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ทาง LH Bank Advisory แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ญี่ปุ่น และขายทำกำไรกองทุนหุ้นญี่ปุ่น
  • สำหรับมุมมองต่อทิศทางราคาน้ำมัน ทางเราประเมินว่าราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นในระยะสั้น โดยราคาน้ำมัน WTI มีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบ Base case target ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อ OPEC+ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตหลังสิ้นไตรมาสที่ 2/2024 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นอุปสรรคต่อความต้องการใช้น้ำมัน ทั้งนี้แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม หลังผลการประชุม FOMC สะท้อนจาก Dot Plot ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 

TOPIC FOCUS

Bond Yield retreats after Fed indicates three rate cuts still coming this year

ผลการประชุม FOMC ออกมาเป็นไปตามคาด โดย Fed ยังคงยืนยันในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งจาก Fed Dot Plot ยังคงคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้ง หรือ 0.75% ในปีนี้ เนื่องจาก Fed คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวลง สะท้อนภาพการลดอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป ซึ่งหุ้นน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวได้ดีกว่า แต่ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ในการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นทาง LH Bank Advisory จึงประเมินว่าการลงทุนในตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งได้รับประโยชน์จาก Bond Yield ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

เนื่องด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ในขณะนี้มีความน่าสนใจกว่าการลงทุนในตราสารทุนของสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบ Earning Yield Gap อยู่ที่ระดับ -0.6% สะท้อนการลงทุนในหุ้นได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ในขณะที่ความเสี่ยงของตราสารหนี้ต่ำกว่า ดังนั้นการลงทุนในตราสารหนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในช่วงนี้

อีกทั้งความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond) ในสหรัฐฯ ลดต่ำลงเทียบเท่าช่วงก่อน Covid-19 โดย Credit Default Swap (CDS) ของตราสารหนี้ภาคเอกชนระดับ Investment Grade ปรับตัวลงอยู่ในระดับ 49.2 จุด เทียบเท่ากับช่วงก่อน Covid-19 ประกอบกับ US Corporate Bankruptcy อยู่ในระดับ 102 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยที่ 140 จุด บ่งชี้ว่าโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนในสหรัฐฯ อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับตัวลงล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed เนื่องจากการจ้างงานยังคงแข็งแกร่งกว่าคาด โดย Unemployment Rate อยู่ต่ำกว่าระดับ 4% อีกทั้งเมื่อเทียบคนว่างงาน 1 คนมีตำแหน่งว่างถึง 1.4 ตำแหน่ง บ่งชี้ว่าประชาชนสหรัฐฯ จะยังคงมีงานทำตราบเท่าที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ ด้วยเหตุนี้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นจะช่วยให้ได้รับรายได้จากดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นทางเราจึงมองว่ากองทุน ABGFIX จึงน่าสนใจ เนื่องจากลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Credit Rating เฉลี่ยอยู่ในระดับ A- (Investment Grade) ด้วยอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ของพอร์ตน้อยกว่า 2 ปี ซึ่งได้รับประโยชน์จาก Bond Yield ระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว เพื่อรับประโยชน์ด้านรายได้จากดอกเบี้ย อีกทั้งด้วยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และไทยค่อนข้างกว้าง เป็นเหตุให้ค่าธรรมเนียมการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ในปัจจุบันทางกองทุนจึงไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ลงทุน ABGFIX เพื่อรับประโยชน์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง

TOPIC FOCUS

End of Ultra-easy monetary policy era

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศออกจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ยาวนานกว่า 17 ปีและยุติยุคเงินฝืดของประเทศ โดยเกิดหลังจากตัวเลขเบื้องต้นอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น 5.28%YoY และเป็นอัตราขึ้นมากสุดตั้งแต่ปี 1991 ทั้งนี้ทาง LH Bank Advisory มองว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างดังกล่าว สามารถช่วยให้อัตราค่าจ้างแท้จริง (Real Wage) กลับมายืนในแดนบวก หลังติดลบต่อเนื่องมา 22 เดือน และการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างของญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ระดับราคาสินค้าปรับสูงขึ้นตาม ทั้งจากฝั่งต้นทุน (Cost Push) และฝั่งความต้องการบริโภคสินค้าที่มากขึ้นตามรายได้ที่เติบโต (Demand Pull) ซึ่งเป็นเหตุให้แนวโน้มระดับราคาสินค้าปรับสูงขึ้น พร้อมกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ก้าวออกจากยุคเงินฝืด 

จากสาเหตุข้างต้นทำให้ BOJ ตัดสินใจเพิ่มระดับความเข้มงวดของนโยบายการเงิน คือ ยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก -0.1% สู่ระดับ 0%-0.1% ถือว่าเร็วกว่าที่ตลาดคาด แต่ตลาดได้รับรู้ประเด็นดังกล่าวมาตลอดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางเราแนะนำ หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ญี่ปุ่น และขายทำกำไรกองทุนหุ้นญี่ปุ่น ด้วยมุมมองดังต่อไปนี้

  • ตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่น ทางเรามองว่ามีความผันผวนสูง และหลังจากนี้จะผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นมีโอกาสปรับขึ้น ทำให้ราคาของพันธบัตรปรับลดลง ดังนั้นผลกระทบแรกจะเกิดจาก Mark to market และทำให้ผู้ถือตราสารหนี้ของญี่ปุ่นขาดทุนทางบัญชี ถึงแม้ว่าการซื้อและถือตลอดอายุตราสาร จะสามารถเลี่ยงความเสี่ยงด้านราคา แต่หากพิจารณามูลค่าหนี้ของญี่ปุ่นที่สะท้อนจากมูลค่าหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นอันดับหนึ่งของโลก ถือเป็นยอดหนี้มหาศาล บ่งชี้ว่าจะมีผู้ลงทุนขาดทุนจากราคาตราสารหนี้ดังกล่าวจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งความเสี่ยงด้านเครดิตจากสภาพคล่อง ทั้งการระดมเงินทุนใหม่และการ Refinance ต้องเผชิญกับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้บริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่าดอกเบี้ยจ่าย หรือที่เรียกว่า บริษัทซอมบี้ ประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งยอดบริษัทซอมบี้ 2022 พุ่งแตะ 251,000 บริษัท หรือ 17%YoY เป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 ในตอนที่ญี่ปุ่นรับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สึนามิ และภัยพิบัตินิวเคลียร์ ขณะที่ยอดบริษัทล้มละลายของญี่ปุ่นในเดือนก.พ. ขยายตัว 734 บริษัท หรือ 27.9%YoY สวนทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างชัดเจน
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในระยะสั้นยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากรับรู้ข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว ขณะที่ระยะยาวตลาดหุ้นญี่ปุ่นต้องพิสูจน์ศักยภาพในการขยายตัวของรายได้บริษัทจดทะเบียน เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินเยนมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้น และกระทบต่อกลยุทธ์การลงทุนญี่ปุ่นที่เคยใช้ประโยชน์ของเงินเยนอ่อน อันเป็นปัจจัยทำให้หุ้นของญี่ปุ่นค่อนข้างมีราคาถูกกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงอัตราเติบโตกำไรบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกที่เป็นกลุ่มหุ้นหลักนำพาให้ตลาดญี่ปุ่นสดใสในช่วงที่ผ่านมา เริ่มสูญเสียความได้เปรียบด้านการแข่งขันการส่งออกเพราะค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น และสุดท้ายต้องติดตามผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัวจะกลับมาชะลอตัว จนเสี่ยงวนมาเป็นปัญหางูกินหางในภายหลัง    

TOPIC FOCUS

Oil gains momentum amid volatile market

ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency: IEA) ปรับคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในไตรมาส 1/2024 จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยประมาณไว้ก่อนหน้าที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีขัดขวางการขนส่งในทะเลแดง ส่งผลให้เส้นทางเดินเรือยาวขึ้น พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ในฝั่งอุปทาน โดยคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกจะลดลง8.7 แสนบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 1/2024 ซึ่งทาง LH Bank Advisory มีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางราคาน้ำมัน ดังนี้

  • การขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย พร้อมด้วยสมาชิกหลักรายอื่นๆ ของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2/2024 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัว ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากผลกระทบของฤดูกาล (Seasonality) จะทำให้อุปสงค์น้ำมันสำหรับการเดินทางและภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น 
  • ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัว 7.0%YoY ในเดือนม.ค.-ก.พ. 2024 สูงกว่าคาดการณ์ที่ 5.0% ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากการที่อิรักเตรียมปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบลงจากระดับ 3.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนมี.ค. 2024 หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิรักในเดือนม.ค.-ก.พ. 2024 สูงกว่าโควต้าที่กำหนดโดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC)
  • จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันทั่วโลก (Total World Rig Counts) ณ สิ้นเดือนก.พ. 2024 อยู่ที่ระดับ 1,813 แท่นขุดเจาะน้ำมัน ลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนก.พ. 2023 ที่ 1,921 แท่น หรือลดลง 5.62% จากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ที่ลดลงจากจุดสูงสุดในต้นปี 2023 ที่ 775 แท่น เหลือ 629 แท่นในปัจจุบัน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลง 
  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 1.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 900,000 บาร์เรล นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนหลังจากยูเครนส่งโดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซีย โดยโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำมัน 17.1 ล้านตันต่อปี
  • ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นในระยะสั้น โดยราคาน้ำมัน WTI มีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบ Base case target ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อ OPEC+ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตหลังสิ้นไตรมาสที่ 2/2024 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นอุปสรรคต่อความต้องการใช้น้ำมัน ทั้งนี้แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม หลังผลการประชุม FOMC สะท้อนว่าเฟดประเมินว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง และยังคงมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 

Weekly Report 25-03-2024

ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2567

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง