ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 20-05-2024

Wealth Weekly Report 20-05-2024
 

Avoid Betting on Data
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาตามคาดการณ์ แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ Fed ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะคงอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายต่อไป เนื่องจากตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลง โดยค่าจ้างชะลอการเติบโตลง แต่อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิด Covid-19 อีกทั้งการลดขนาด QT ทำส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบลดลงช้ากว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ด้านการบริโภคมีแนวโน้มอ่อนแอลง กดดันแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทางเราจึงแนะนำกองทุน TMBGQG ที่ลงทุนในหุ้น Quality Growth
  • รายงานอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) เดือนเม.ย. ออกมาขยายตัว 3.4% เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นไปตามคาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง โดยพันธบัตรอายุยาวลดลงเร็วกว่าพันธบัตรอายุสั้น เพราะตลาดคาดว่าปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือเรียกว่า Bull Steepening ที่เกิดร่วมกับภาวะ Inverted yield curve บ่งชี้ถึงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนแอลง ขณะที่หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อ ถือว่าขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทาง LH Bank Advisory แนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่มีความระมัดระวังมากขึ้น และเตรียมรับมือ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • ดัชนี HSCEI ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับตัวขึ้น 16% นับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 2024 ทางเราประเมินว่าในระยะสั้น Momentum การปรับตัวขึ้นที่แข็งแกร่งบ่งชี้ว่ายังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และด้าน Valuation ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก โดยดัชนี HSCEI Index เทรด Forward P/E เพียง 8.8 เท่า โดยกองทุนแนะนำคือ กองทุนเปิด MEGA 10 CHINA (MEGA10CHINA-A) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่เปราะบาง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่อาจกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

TOPIC FOCUS

Inflation is cooling down but avoid betting on data

อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือน เม.ย. ออกมาอยู่ในระดับ 3.4%YoY ตามคาด ซึ่งต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.5%YoY ในขณะที่ CPI เดือนต่อเดือน เพิ่มขึ้นเพียง 0.3%MoM ต่ำกว่าคาดและต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.4%MoM ในขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวลงอยู่ในระดับ 4.3% สะท้อนตลาดคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Fed อาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ตามทางเรามองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

  • แม้ตลาดแรงงานมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายต่อไป เนื่องจากปัจจัยในการขับเคลื่อนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคือ Core Service ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่มาจากการจ้างงาน ขณะนี้เราพบว่าตลาดแรงงานมีแนวโน้ม ชะลอตัว โดยค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ (Average Hourly Earnings) เดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 3.9%YoY โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลง และเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในรอบ 34 เดือน แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อน Covid-19 บ่งชี้ว่าค่าจ้างยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ผ่อนคลายลง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่พบปัจจัยที่ทำให้ค่าจ้างชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าต้นทุนของธุรกิจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ Fed ต่อไป
  • อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อจะได้รับแรงหนุนจากการลดปริมาณ Quantitative Tightening (QT) เนื่องจากหลังจากการประชุม FOMC ในเดือน เม.ย. มีมติให้ลดขนาดของ QT ลงเหลือ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิน 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบลดลงช้ากว่าที่คาด หรือเสมือนว่าปริมาณเงินในระบบมีมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยทั้งภาคครัวเรือนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ราคาของสินค้าจะปรับตัวลงช้ากว่าที่คาด

อย่างไรก็ตามความอ่อนแอด้านผู้บริโภค กดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก GDP 1Q24 ถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภค ซึ่งมีสัดส่วน 68% ของ GDP ส่งผลให้ GDP ขยายตัว 1.6%QoQ อย่างไรก็ตามตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. อ่อนตัวลงอยู่ในระดับ 67 จุด ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ประกอบกับตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค (Consumer Spending) 1Q24 เพิ่มขึ้นเพียง 0.6%QoQ ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นในไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 0.8%QoQ บ่งชี้ว่าการบริโภคในภาคครัวเรือนมีแนวโน้มอ่อนแอ ซึ่งด้วยเหตุนี้ทางเราจึงประเมินว่าแม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่เห็นสัญญาณความอ่อนแอของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงยังไม่ตัดความเป็นไปได้ในการเกิดเศรษฐกิจถดถอย 

ด้วยเหตุนี้ทางเราประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ทางเราจึงแนะนำกองทุนเปิดทหารไทย Global Quality Growth (TMBGQG) ซึ่งลงทุนในหุ้น Quality Growth ที่มีโอกาสเติบโตและมีงบการเงินแข็งแกร่ง ซึ่งสามารถปรับตัวได้ดีภายใต้สถานการณ์ความผันผวน

Growth Down + Bull Steepening

รายงานอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) เดือนเม.ย.ออกมาขยายตัว 3.4% เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นไปตามคาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง โดยพันธบัตรอายุยาวลดลงเร็วกว่าพันธบัตรอายุสั้น เพราะตลาดมีความคาดหวังปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทาง LH Bank Advisory มองว่าลักษณะเส้นผลตอบแทน (Yield Curve) ที่ชันตอนนี้เป็น Bull Steepening โดยนักลงทุนต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ ในครั้งนี้  Bull Steepening เกิดร่วมกับภาวะ Inverted yield curve ที่เกิดมายาวนานตั้งแต่ มี.ค. 2022 บ่งชี้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้เชื่อว่า เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตตกต่ำ จนมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามมา

โดยภาวะ Inverted yield curve ถือเป็นสัญญาณที่เตือนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Recession) ซึ่งปกคลุมตลาดการลงทุนมาแล้วถึง 26 เดือน แต่ยังไม่เกิดวิกฤตตามมาด้วยการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง จนทำให้หลายคนมองว่า Inverted yield curve นี้แตกต่าง ทางเราจึงเกิดคำถามว่าครั้งนี้แตกต่างจริงไหม ? หาก Figure 4 แสดงแนวโน้มการสร้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในช่วงหลายเดือนหลังการเกิด Inverted yield curve กับพื้นที่สีแดงแสดงช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเส้นประสีเขียวแสดงการกลับตัวของเส้นผลตอบแทนมาเป็น Normal Yield Curve พบว่า ปี 1978 1980 และ 1989 หลังการเกิด Inverted Yield Curve ไปเฉลี่ย 20 เดือน และมีการกลับเป็น Normal Yield Curve ก่อนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และในเดือนธ.ค. 2005 เกิดภาวะถดถอยรอบแรกหลัง 20 เดือนหลังจาก Inverted yield curve รวมถึงมีการพลิกกลับเป็น Normal Yield Curve และหลังจากนั้น 5 เดือน รวมเป็น 25 เดือน กลายเป็นวิกฤตการเงิน (GFC) ตามมา 

ดังนั้นทางเราจึงสรุปได้ว่าปัจจุบันที่ Bull Steepening ร่วมกับ Inverted yield curve บ่งชี้ถึงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนแอลง ขณะที่หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อ ถือว่าขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากทั้งราคาพลังงาน และเงินเฟ้อหลักภาคบริการ จะเป็นเหตุให้การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะเกิดหลังจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤตไปแล้ว ทางเราจึงแนะนำวางกลยุทธ์การลงทุนที่มีความระมัดระวังมากขึ้น กลยุทธ์ตราสารหนี้ : ทางเราแนะนำกลยุทธ์ผสมตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นเทียบอัตราผลตอบแทนระยะสั้นยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ระยะยาวรับอานิสงส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สินค้าโภคภัณฑ์ : สะสมทองคำ เมื่อมีการพักฐาน เพราะทองคำได้ประโยชน์ในฐานะ Safe Haven ตลาดหุ้น : ในช่วง Bull Steepening ที่เศรษฐกิจยังไม่ถดถอย อาจจะเห็นตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวรับ Bond Yield ที่ปรับลง อย่างไรก็ตาม ทางเราแนะนำว่าประเด็นเงินเฟ้อยังคงกดดันตลาดลงทุน และ Bond Yield กลับมาขึ้นอีกครั้ง จนสร้างความผันผวน ดังนั้นประเด็นเรื่อง Valuation จะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องคำนึงถึง เพราะเป็นจังหวะที่หุ้นมูลค่า (Value) จะได้เปรียบหุ้นเติบโต (Growth) เพราะการปรับตัวของราคาในช่วงตลาดปรับฐานจะต่ำกว่าในกรณีที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

Chinese recovery gains momentum

ดัชนี Hang Seng China Enterprises Index (HSCEI) ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับตัวขึ้น 16% นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2024 สะท้อนโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นจีนมากขึ้น ส่งผลให้กระแสการลงทุน (fund flows) ไหลสู่ตลาดหุ้นจีนอย่างมีนัยสำคัญ คำถามที่ตามมาคือ การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนในรอบนี้จะเป็นการฟื้นตัวที่ยั่งยืนหรือไม่? ทาง LH Bank Advisory ประเมินแนวโน้มของเศรษฐกิจจีน ดังนี้

  • ตลาดปรับตัวขึ้นจาก Sentiment โดยรวมของตลาดที่ดีขึ้นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว หลัง GDP ไตรมาส 1/2024 เติบโต 5.3%YoY โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมใน 3 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 6..1%YoY และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างมาก ซึ่งในช่วงวันหยุดตรุษจีนมีรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น 43.7%YoY
  • แรงหนุนจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติและฮ่องกงที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น A-Shares (Northbound Trading) โดยมียอดซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนม.ค. – เม.ย. 2024 ขณะที่นักลงทุนจีนที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น H-Shares (Southbound Trading) ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.พ. ที่ผ่านมา มียอดซื้อสุทธิต่อเนื่องเกือบทุกวันทำการ (Figure 6) 
  • ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ทั้ง Caixin Manufacturing PMI และ NBS Manufacturing PMI อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้การขยายตัวของภาคการผลิต ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่และยอดขายจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกค่อนข้างผันผวนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากการส่งออกของจีนในเดือนเม.ย. ขยายตัว 1.5%YoY ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่หดตัว 7.5% ในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกยังเปราะบาง
  • ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางการจีนกำลังพิจารณาข้อเสนอที่จะยกเว้นภาษีเงินปันผลจากหุ้นฮ่องกงที่ซื้อผ่าน Stock Connect เพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบการซื้อบ้านในเมืองใหญ่ เพื่อบรรเทาวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์
  • อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดนปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนเป็น 4 เท่า สู่ระดับ 102.5% รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ซึ่งท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนจะเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียง

ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าในระยะสั้น Momentum การปรับตัวขึ้นที่แข็งแกร่งบ่งชี้ว่ายังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและด้าน Valuation ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก โดยดัชนี HSCEI Index เทรด Forward P/E เพียง 8.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 9.0 เท่า โดยกองทุนแนะนำคือ กองทุนเปิด MEGA 10 CHINA (MEGA10CHINA-A) ที่ลงทุนใน 10 บริษัทของจีนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นความเป็นผู้นำในกลุ่ม Top Chinese Brands  อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่เปราะบาง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่อาจกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

Weekly Report 20-05-2024

ประกาศ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง