ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 15-07-2024

Wealth Weekly Report 15-07-2024
 

WEIRD RESILIENCE
  • ข่าวร้ายยังเป็นข่าวดีกับตลาดหุ้นสหรัฐฯหรือไม่ ทาง LH Bank Advisory มองว่าการทำทำ All Time High ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สะท้อนการรับรู้ข่าวร้ายกลายเป็นข่าวดีใกล้หมดแล้ว ขณะที่การปรับขึ้นของตลาดหุ้นท่ามกลางข่าวร้ายอย่างความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มากขึ้น เท่ากับนักลงทุนเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น ภายใต้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด เป็นเหตุให้ตลาดพร้อมที่จะปรับฐานแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้นการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว ที่ได้อานิสงส์ของการปรับลดดอกเบี้ยจึงมีความน่าสนใจมากขึ้น
  • ทางเราประเมินว่าเศรษฐกิจของเวียดนามยังมีสัญญาณการเติบโตที่ดี ทั้งจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และเวียดนามเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ตามนโยบาย China+1 ส่งผลให้ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 8.2%YoY แตะระดับ 10.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในแง่ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยดัชนี VN Index เทรดอยู่ที่ Forward P/E 12 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 13.4 โดยกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามที่ทางเราแนะนำคือ กองทุนเปิด Principal Vietnam Equity Fund (Principal VNEQ-A) 
  • หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้น แตะระดับ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากประกาศอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือน มิ.ย. ต่ำกว่าคาด ขณะที่ DXY อ่อนค่าแตะระดับ 104 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังในการลดอัตราดอกเบี้ยใน อย่างไรก็ตามในระยะสั้นนี้ทางเราประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยยังเป็นไปได้ยาก โดยอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ในขณะที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจกดดันราคาทองคำในระยะสั้น อย่างไรก็ดีพบว่าการยื่นขอล้มละลายมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประกอบกับอุปสงค์จากธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่ง จึงแนะนำให้ทยอยสะสมทองคำเมื่อราคาปรับตัวลง

TOPIC FOCUS

Bad news is still good news?
ช่วงนี้นักลงทุนที่ติดตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญข่าวเชิงลบต่อเนื่องตั้งแต่ดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคบริการอยู่ที่ 48.8 เข้าสู่โซนหดตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือน และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ปรับตัวสู่ 4.1% มากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ทำประมาณการไว้ของปี 2024 (Fed’s projection) ที่ 4% แต่ยังคงต่ำกว่า Long Run 4.2% เป็นเหตุให้ทาง LH Bank Advisory ตั้งคำถามว่า “ข่าวร้ายยังเป็นข่าวดีกับตลาดหุ้นสหรัฐฯหรือไม่ (Bad news is still good news)” เพราะข่าวร้ายเหล่านี้นักลงทุนมองเป็นปัจจัยกดดันให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ถูกตรึงไว้ในระดับสูงและยาวนาน ทั้งนี้ข่าวร้ายที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงทำจุดสูงสุดใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือสัญญาณความอ่อนแอของตลาดแรงงาน และมีแนวโน้มอัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

  • ดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคบริการส่วนของการจ้างงานที่หดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) อยู่ที่ 46.1 จุด 5 เดือน ติดต่อกัน ทั้งนี้ภาคการจ้างงานภาคบริการ คิดเป็น 72%  ของ Nonfarm payroll และดัชนีฝ่ายจัดซื้อเป็นตัวเลขที่บ่งบอกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประมาณ 3-6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นด้วยภาพกิจกรรมการจ้างงานภาคบริการที่ซบเซาดังกล่าวกำลังบอกแนวโน้มอุปสงค์ของการจ้างงานที่หดตัวลงในช่วงที่เหลือของปี
  • ค่าเฉลี่ยช่วง 6 เดือนของคนงานที่เปลี่ยนไปสู่การว่างงานเพิ่มขึ้น 3,351 พันคน ขณะเดียวกันคนว่างงานเปลี่ยนไปมีงานทำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3,263 พันคน สะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานสหรัฐฯ และหากพิจารณาจากอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Labor force participation rate) พบว่า คนว่างงานและคนมีงานทำต่อประชากรทั้งหมด มีทิศทางเพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงกับก่อนช่วงเกิด Covid-19 ถือเป็นสัญญาณของอุปทานแรงงานที่เริ่มสูงขึ้น    

ดังนั้นตลาดแรงงานที่แนวโน้มอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานที่เริ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราการว่างงานในช่วงที่เหลือของปีปรับขึ้นมากกว่า 4.1% แต่ยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวเมื่อเทียบกับในอดีตและส่งผลให้ค่าจ้างรายชั่วโมงชะลอตัวอย่างเฉื่อยช้าอยู่ แสดงหลักฐานจากค่าเฉลี่ยอัตราว่างงาน พบว่า ระดับอัตราการว่างงานปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปกติปี 2015-18 อยู่ที่ 4.6% และหากย้อนถึงปี 1994 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญมา 3 วิกฤตขนาดใหญ่ อยู่ที่ระดับ 5.73% 

ทั้งนี้ทางเราเห็นแนวโน้มของเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลงแม้ว่าจะเหนียวหนืด แต่เป็นเหตุให้ทางเราประเมินว่า Fed มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ช่วงไตรมาสที่ 4 เพื่อให้ผ่อนคลายสภาพคล่องมากขึ้น และช่วยเศรษฐกิจให้ขยายตัว ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของประธาน Fed ส่งสัญญาณในการแถลงการณ์กับสภาคองเกรสที่พยายามลดระดับความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงิน จนเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำ All Time High ทางเรามองว่าตลาดกำลังรับรู้ข่าวร้ายกลายเป็นข่าวดีใกล้หมดแล้ว ขณะที่การปรับขึ้นของตลาดหุ้นท่ามกลางข่าวร้ายที่มากขึ้น เท่ากับนักลงทุนเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น ภายใต้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด เป็นเหตุให้ตลาดพร้อมที่จะปรับฐานแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้นการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวที่ได้อานิสงส์ของการปรับลดดอกเบี้ยจึงมีความน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งได้ล็อกอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูง และโอกาสสร้างกำไรจากส่วนต่างราคาอีกด้วย

Vietnam : Turning headwinds into a tailwinds  

ตลาดหุ้นเวียดนาม VN Index เผชิญแรงขายในช่วงเดือนมิ.ย. หลัง BlackRock บริษัทจัดการลงทุนระดับโลกประกาศปิดกองทุน iShares Frontier & Select EM ETF ซึ่งมีการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเป็นสัดส่วนหลักถึง 28% อย่างไรก็ตามคาดว่าเป็นการปิดกองเพื่อรองรับการเปลี่ยนสถานะของตลาดหุ้นเวียดนามจาก Frontier Market เป็น Emerging Market ทั้งนี้สำหรับประเด็นการยกเลิกเกณฑ์ Pre-funding ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติสามารถส่งคำสั่งซื้อหุ้นได้โดยไม่ต้องมีเงินสำรองในบัญชีก่อนการส่งคำสั่งซื้อ โดยหากสามารถยกเลิกเกณฑ์ Pre-funding ได้ในไตรมาส 3/2024 คาดว่าทาง FTSE จะสามารถประกาศยกระดับเวียดนามเป็น Emerging Market ได้ในเดือนก.ย. 2025 ซึ่งจะดึงดูดเงินทุนให้เข้ามาสู่ตลาดหุ้นเวียดนามได้มากขึ้น 

ประเด็นความกังวลเรื่องค่าเงินดองที่อ่อนค่าเกือบ 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปีนั้น ทางเรามองว่าเงินดองไม่ได้อ่อนค่าผิดปกติเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยทางธนาคารกลางเวียดนาม (SVB) มีแนวโน้มที่จะแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินดอง ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากในปีที่ผ่านมา SVB ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate) 3 ครั้ง จาก 6% เหลือ 4.5% ในปัจจุบัน ทำให้คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 100 bps หรือ 1% แม้จะสร้างแรงกดดันในระยะสั้น แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยตัวเลข GDP ไตรมาส 2/2024 เติบโต 6.93%YoY เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัว 5.87% ในไตรมาสแรกของปีนี้ หนุนโดยภาคการส่งออกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 12.5% และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านการผลิต (S&P Global Manufacturing PMI) ในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 54.7 เทียบกับระดับ 50.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สะท้อนการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับยอดค้าปลีกที่เติบโต 9.1% บ่งชี้อุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัว และเมื่อพิจารณาภาคการท่องเที่ยวในเดือนมิ.ย. มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนเวียดนามมากกว่า 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28.1%YoY โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 8.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับระดับ Pre-Covid

ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าเศรษฐกิจของเวียดนามยังมีสัญญาณการเติบโตที่ดี และเวียดนามเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ตามนโยบาย China+1 ส่งผลให้ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 8.2%YoY แตะระดับ 10.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้ว่าในแง่ Fund Flow ตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นเวียดนามมีเงินไหลออกสุทธิ 1.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการปิดกองทุน ETF ของ BlackRock และการขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุน แต่แรงขายของนักลงทุนต่างชาติค่อยๆ ลดลง นอกจากนี้ในแง่ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยดัชนี VN Index เทรด อยู่ที่ Forward P/E 12 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 13.4 เท่า ซึ่งแม้ว่าจาก Bloomberg Consensus จะมีการปรับประมาณการ EPS ในปีนี้ลง แต่การคาดการณ์การเติบโตของ EPS ในปีนี้ที่ 32%YoY ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ โดยกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามที่ทางเราแนะนำคือ กองทุนเปิด Principal Vietnam Equity Fund (Principal VNEQ-A) 

Gold rallies as Fed rate cut expectations rise

ราคาทองคำปรับตัวขึ้น แตะระดับ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากประกาศอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 3%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าแตะระดับ 104 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังในการลดอัตราดอกเบี้ยใน จาก CME FedWatch Tool เพิ่มน้ำหนักการลดอัตราดอกเบี้ย 25bps ในเดือน ก.ย. นี้ ประกอบกับตัวเลขอัตราว่างงานเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.1% และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตอกย้ำ Fed อาจลดอัตราดอกเบี้ยได้ตามคาด อย่างไรก็ตามทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไป ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำ

  • อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป จาก Arch Lumpini ฉบับ 24 – 28 มิถุนายน 2024 หัวข้อ “Sticky inflation and amid consumers’ sentiment slips” ซึ่งประเมินว่าอัตราค่าเช่าที่พักอาศัย จะหนุนให้เงินเฟ้อ Shelter ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตัวเลข GDP เดือน พ.ค. ที่ยังขยายตัวได้มาจากภาคบริการ โดยเฉพาะในกลุ่ม Housing and Utility ที่มีสัดส่วนกว่า 12% จาก 46% สำหรับการบริโภคภาคบริการ และเพิ่มขึ้น 6.5%YoY จึงบ่งชี้ว่าหากอัตราค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหนุนทั้งอัตราเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ 
  • ตลาดแรงงานที่ชะลอตัวลงในขณะนี้ บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง แต่ไม่ได้ร้อนแรงเท่ากับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-Farm Payrolls) ที่เพิ่มขึ้น 206,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยในช่วง Pre-Covid สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่เปิดรับ (JOLTs Job Openings) ในเดือน พ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 8.14 ล้านตำแหน่ง บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานอยู่ในช่วงที่ไม่ได้ร้อนแรงแต่ยังคงมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับในอดีต

ด้วยเหตุนี้ Fed จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ย จึงมองว่าการที่ราคาทองคำปรับขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นความคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วเกินไป มีโอกาสที่ทองคำปรับตัวลงในระยะสั้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้อัตราการยื่นขอล้มละลายในสหรัฐฯ ณ 30 มิ.ย. 24 มีบริษัท 346 แห่งยื่นขอล้มละลาย ซึ่งเกือบเท่ากับจำนวนรวมทั้งปีของปี 2022 และสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ทางเราจึงยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบกับผลสำรวจการสำรองทองคำของธนาคารกลางแต่ละประเทศของ World Gold Council ในปี 2024 บ่งชี้ว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มการสำรองถึง 81% สูงที่สุดในรอบ 6 ปี และไม่มีธนาคารกลางของประเทศใดคาดว่าจะลดการสำรองทองคำ โดยเหตุผลหลักมาจากความคาดหวังในการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง และความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ สะท้อนอุปสงค์ทองคำยังคงแข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงแนะนำให้ทยอยสะสมทองคำเมื่อปรับตัวลง

Weekly Report 15-07-2024

ประกาศ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2567

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง