ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 10-06-2024

Wealth Weekly Report 10-06-2024
 

CAUTIOUS OPTIMISM
  • ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยลดลง 0.25% เข้าสู่ระดับ 4.25% อย่างไรก็ตามทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าอาจเกิดการ Sell on Fact เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยนี้ไปแล้ว และด้วยเศรษฐกิจยุโรปค่อนข้างอ่อนแอ ทั้งอุปสงค์ภายในและภายนอกเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจ ส่งผลให้คาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในสหภาพยุโรปเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามการลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว จึงแนะนำให้ลงทุนหุ้นยุโรปเมื่อพักฐาน
  • ชัยชนะของพรรค BJP ของ นายกรัฐมนตรี โมดี ในการเลือกตั้ง 2024 ออกมาน่าผิดหวังได้ที่นั่ง 293 จาก 543 ที่นั่ง สะท้อนถึงอุปสรรคในการดำเนินนโยบายในอนาคต ขณะที่ Valuation ของตลาดหุ้นอินเดียที่ตึงตัว จึงทำให้ในเวลานี้ปัจจัยเชิงลบสร้างความผันผวนสูงแก่ตลาด และเมื่อพิจารณาการปรับกำไรต่อหุ้น (EPS) ในอดีตหลังผลการเลือกตั้งปี 2014 และ 2019 พบว่า ตลาดเริ่มปรับ EPS หลังผลเลือกตั้งออก 3 เดือน และส่งผลให้มูลค่าตลาดอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากขึ้น พร้อมมี Upside จากการปรับลดลงของดัชนี ทั้งนี้ทางเราแนะนำตลาดหุ้นอินเดีย สำหรับ Satellite Port โดยเข้าลงทุนแบบทยอยซื้อเมื่อปรับฐาน
  • ราคาหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก AI ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นมามาก จนเข้าสู่ภาวะ Overbought ทำให้หุ้นอย่าง Nvidia กลายเป็นหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยระดับ Forward P/E ที่ 41.7 เท่า จึงมีโอกาสที่จะเข้าสู่การปรับฐาน ในขณะที่กระแส AI ได้หนุนให้ตลาดหุ้นเอเชีย อย่างดัชนีหุ้นเกาหลี (Kospi Index) ที่มีสัดส่วนของหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ 39% เติบโตอย่างโดดเด่น แต่ดัชนี Kospi Index มีอัตราส่วนP/BV เพียง 0.96 เท่า และ Forward P/E ที่ 10.7 เท่า ทางเราจึงแนะนำทยอยลดน้ำหนักการลงทุนจากหุ้นเทคสหรัฐฯ ที่มี Valuation ตึงตัว ไปยังหุ้นเทคในเอเชีย อย่างเกาหลีใต้ที่มี Valuation ที่น่าสนใจ 

TOPIC FOCUS

ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบ 5 ปี มีโอกาสถูก Sell on Fact

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 6 มิ.ย. 24 มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงสู่ระดับ 4.25% หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ในเดือน พ.ค. ปรับตัวลงอยู่ในระดับ 2.6% เข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจาก Technical Recession จึงตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามทางเราประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB ในครั้งนี้จะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐาน ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การบริโภคภายในประเทศค่อนข้างอ่อนแอ บ่งชี้อุปสงค์ภายในประเทศค่อนข้างอ่อนแอ กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของ EU เนื่องจากตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคหดตัว 13.2% และตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค 4Q23 ขยายตัวเพียง 0.2%QoQ กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ EU  
  • การส่งออกของ EU มีแนวโน้มชะลอตัวลง กดดันเศรษฐกิจของ EU เนื่องจากเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และนักลงทุนคาดหวังว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน จึงส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ EU เป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออก โดยการส่งออกคิดเป็น 51% ของ GDP และส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งในปี 2022 EU ส่งออกไปยังสหรัฐฯ กว่า 22% บ่งชี้การส่งออกมีโอกาสที่จะไม่สามารถเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากเท่าที่ควร ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้อุปสงค์ภายนอก EU ค่อนข้างอ่อนแอ ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจ EU ยังมีแนวโน้มชะลอตัว
  • บริษัทจดทะเบียนใน EU ยังไม่ได้มีแนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการ เนื่องจากตัวเลข PMI ภาคการผลิตที่อยู่ในโซนหดตัว ติดต่อกัน 24 เดือน ประกอบกับคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ออกมาชะลอตัวลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจหดตัว 21 เดือนติดต่อกัน จากตัวเลขดังกล่าว บ่งนี้เศรษฐกิจ EU อยู่ในช่วงที่ชะลอตัว แม้จะผ่าน Technical Recession ไปแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม พบว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ตลาดหุ้นยังคงปรับตัวขึ้นจากการคาดการณ์ของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสังเกตการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในอัตราที่ชะลอตัวลง อีกทั้ง Forward P/E ของ STOXX 600 อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปี ดังนั้นทางเราจึงมองว่า ECB การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ทำให้มีโอกาสถูก Sell on Fact

อย่างไรก็ตามการกู้ยืมของยุโรปส่วนใหญ่มาจากภาคธนาคาร ส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทในยุโรปค่อนข้างอ่อนไหว (Sensitive) ต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบาย บ่งชี้ว่าตัวเลขคำขอสินเชื่อใหม่ (New Loan) ที่ชะลอตัวลงจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป และเมื่อต้นทุนบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว เป็นเหตุให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามไปด้วย ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสฟื้นตัวในระยะถัดไป ดังนั้นจึงแนะนำให้ซื้อหุ้นยุโรปเมื่อพักฐาน

Modi wins 3rd term as India's prime minister

ชัยชนะของพรรค BJP ของ นายกรัฐมนตรี โมดี ในการเลือกตั้ง 2024 ออกมาน่าผิดหวังได้ที่นั่ง 293 จาก 543 ที่นั่ง ลดลงจากผลเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 59 ที่นั่ง ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตลาดและพรรคคาดไว้ จนสะท้อนภาพรัฐบาลผสมที่อำนาจของพรรค BJP ลดลง และสร้างความยากลำบากการรับตำแหน่งของโมดี การบริหารงาน และการดำเนินนโยบายในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้ สร้างคำถามแก่นักลงทุนถึงความเสี่ยงที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอินเดียจะชะลอตัวลงหรือไม่หลังการเลือกตั้ง จากที่ตลาดคาดหวังเติบโตเฉลี่ยปีละ  6.8%-7% ในปี 2024-25 สะท้อนไปที่ตลาดหุ้นอินเดียสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดแรงขายทำกำไรจน Nifty 50 ปรับตัวต่ำสุดสู่ระดับ 21,281 จุด (-9% จากจุดสูงสุด 23,338) ทาง LH Bank Advisory จึงประเมินนโยบายเด่นของรัฐบาลโมดีสมัยที่ 3 เพื่อพาเศรษฐกิจอินเดียขึ้นแท่นเป็นอันดับที่ 3 ของโลก จากปัจจุบันอันดับที่ 5

  • นโยบายการคลังขาดดุล ปี 2024 ที่ 5.8% ของ GDP และวางแผนปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2024 จนถึง 2026 เหลือขาดดุลเพียง 4.5% เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการคลังมากขึ้น ทั้งนี้ทางเรามองว่าความพยายามรัดกุมทางการคลังอาจจะไม่ได้หมายถึงปริมาณเงินที่ลดลง และกระทบต่องบลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอินเดียที่โตเร็วสุดของโลก บ่งชี้จากไตรมาส 1/24 สูงถึง 7.8% ขณะเดียวกันด้วยความพยายามดูแลเสถียรภาพทางการคลังส่งผลให้ S&P Global ปรับมุมมองประเทศอินเดีย เป็น Positive จาก Stable แม้จะคงอันดับความน่าเชื่อถือ BBB- ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรอินเดียปรับลง ส่งผลเชิงบวกต่อต้นทุนการเงินอินเดียให้ลดลงเอื้อต่อการลงทุนของรัฐบาลและบริษัทให้สามารถขยายตัวได้มากขึ้น
  • นโยบายเปลี่ยนอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก (Global Manufacturing Hubs) ซึ่งรัฐบาลโมดีวางแผนที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตทั่วโลกเป็น 5% ในปี 2030 และ 10% ในปี 2047 จากปัจจุบันที่อินเดียครองส่วนแบ่งน้อยกว่า 3% ของการผลิตทั่วโลก ทั้งนี้ทางเราประเมินว่า อินเดียถือว่าเป็นประเทศได้รับอานิสงส์ของสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน โดยตรง ดังนั้นแผนการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของอินเดีย ที่จะลดภาษีนำเข้าสำหรับปัจจัยการผลิตสำคัญ การสร้างมาตรการเอื้อแก่นายทุน และการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับงานประเภทเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

หากพิจารณานโยบายถือว่าเอื้อให้อัตราการเติบโตของอินเดียยังคงโดดเด่น แต่อย่างไรก็ตามด้วยผลของรัฐบาลผสมสูตรใหม่ ถือเป็นแรงกดดันที่มองข้ามได้ยาก เพราะสะท้อนถึงอุปสรรคในการดำเนินนโยบายในอนาคต ขณะที่ทางเราได้ย้ำถึง Valuation ของตลาดหุ้นอินเดียค่อนข้างตึงตัว ทำให้เมื่อมีปัจจัยเชิงลบมากระทบจึงสร้างความผันผวนสูงแก่ตลาด โดยมีหลักฐานบ่งชี้จาก VIX index ปรับเข้าสู่โซนที่ตลาดเกิดความกังวล เมื่อพิจารณาการปรับกำไรต่อหุ้น (EPS) ในอดีตหลังการเลือกตั้งปี 2014 และ 2019 ตลาดเริ่มปรับ EPS ตลาดอินเดียหลังผลเลือกตั้งออก 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ตลาดเริ่มเห็นเสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลให้มูลค่าตลาดอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากขึ้น พร้อมมี Upside จากการปรับลดลงของราคา ทั้งนี้ทางเราแนะนำกลยุทธ์สำหรับตลาดหุ้นอินเดีย เหมาะสำหรับการสร้างพอร์ตทางเลือกที่หวังสร้างผลตอบแทนพอร์ตรวมให้โดดเด่น (Satellite Port) โดยเข้าลงทุนแบบทยอยซื้อเมื่อปรับฐาน (Buy on dip) ด้วยน้ำหนัก 10-20% ของพอร์ตการลงทุนรวม

Opportunities in Korea driven by AI boom

ราคาหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก AI ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นมามาก จนเข้าสู่ภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) ทำให้หุ้นอย่าง Nvidia กลายเป็นหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยระดับ Forward P/E ที่ 41.7 เท่า จึงมีโอกาสที่จะเข้าสู่ช่วงการปรับฐาน ในขณะที่กระแส AI ได้หนุนให้ตลาดหุ้นเอเชีย อย่างดัชนีหุ้นเกาหลี (Kospi Index) ที่มีสัดส่วนของหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ 39% เติบโตอย่างโดดเด่น แต่ดัชนี Kospi Index มีอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) เพียง 0.96 เท่า และ Forward P/E ที่ 10.7 เท่า ทางเราจึงแนะนำทยอยลดน้ำหนักการลงทุนจากหุ้นเทคสหรัฐฯ ที่มี Valuation ตึงตัว ไปยังหุ้นเทคในเอเชีย อย่างเกาหลีใต้ที่มี Valuation ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนตลาดหุ้นเกาหลี ดังนี้

  • GDP ของเกาหลี ไตรมาส 1/2024 ขยายตัว 3.3%YoY เพิ่มขึ้นจาก 2.2%YoY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจเกาหลีมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการส่งออก คิดเป็นสัดส่วน 43% ของ GDP ที่เริ่มปรับตัวเป็นบวกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023 ซึ่งการส่งออกของเกาหลีเติบโตถึง 11.7% ในเดือนพ.ค. โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ที่มีการสร้างฐานการผลิตเพิ่มขึ้น
  • อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 2.7%YoY ในเดือนพ.ค. สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ส่วน Core Inflation ที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ชะลองเหลือ 2.2% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงเข้าสู่เป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นก็ตาม เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารกลางของเกาหลีคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.5% โดยคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 3% ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ 
  • ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวแข็งแกร่ง ในเดือนเม.ย. เติบโตที่ 6.1% และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตในเดือนพ.ค. ที่อยู่ระดับ 51.6 กลับมาอยู่ในโซนขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 2 เดือนที่ผ่านมา บ่งชี้สัญญาณการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศ
  • Fund Flow ต่างชาติไหลเข้าเกาหลีอย่างต่อเนื่อง ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน โดยตั้งแต่ต้นปี มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นเกาหลีสุทธิ 13,933 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิ.ย. 2024) โดยหลักๆ เข้าซื้อหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มการเงิน ซึ่ง 2 อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนกว่า 50% ของดัชนีตลาดหุ้นเกาหลี
  • การปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการภายใต้มาตรการ “Corporate Value-up Program” ที่มุ่งเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงสิทธิประโยขน์ทางภาษี ในลักษณะเดียวกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องมาจากอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชีที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก จากปัจจัยต่างๆ เช่น การจ่ายเงินปันผลที่ต่ำ และการครอบงำของกลุ่มแชร์โบ (Chaebols) ที่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ครอบครองเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนจากผู้ลงทุนในประเทศ

ทาง LH Bank Advisory แนะนำทยอยสะสมกองทุน PRINCIPAL KEQ ซึ่งลงทุนในกองทุนหลักคือ iShares MSCI South Korea ETF ที่มีนโยบายลงทุนให้มีผลตอบแทนใกล้เคียงกับ ดัชนี MSCI Korea 25/50 โดย Earning Growth ที่อยู่ในระดับสูง และการเติบโตของ AI ที่แข็งแกร่ง จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนหลักในดัชนีหุ้นเกาหลี

Weekly Report 10-06-2024

ประกาศ ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2567

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง