มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์
ส่องแนวโน้มหุ้นเวียดนาม
สืบเนื่องจากหัวข้อ จับชีพจรเวียดนามครึ่งปีหลัง ฉบับที่ I ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อาจยังเป็นแรงกดดันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากในไตรมาส 3 มีหุ้นกู้โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาฯ ที่จะครบกำหนดค่อนข้างมาก แต่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคธนาคารของเวียดนามในปัจจุบัน ยังอยู่ในเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ สำหรับฉบับที่ II จะมาพิจารณาแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในครึ่งปีหลัง ด้านการท่องเที่ยวของเวียดนามใน 6 เดือนแรกของปี 2023 ได้บรรลุเป้า 70% ของเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้น 9 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ภาคการท่องเที่ยวของเวียดนามมีแนวโน้มที่ฟื้นตัว แต่การท่องเที่ยวของเวียดนามในระดับสูงสุดก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 ซึ่งมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 18 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนเพียง 9.8% ของ GDP จึงไม่สามารถชดเชยกับการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 57% ของ GDP ขณะที่รายงานยอดขายปลีก (Retail Sales) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมิ.ย. ขยายตัวเพียง 6.5% เมื่อเทียบกับ 11.5% ของเดือนก่อน และ Manufacturing PMI ในเดือนมิ.ย. อยู่ในระดับ 46.2 นับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ PMI อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวในภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามมีโอกาสฟื้นตัวด้วยแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าธนาคารกลางของเวียดนามจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนาม ได้รับอานิสงส์จาก “กลยุทธ์ China+1” ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ผลิตยังคงพึ่งพาการผลิตในจีนในการเป็นโรงงานของโลกส่วนหนึ่งและสร้างสมดุลในห่วงโซ่การผลิตโดยการกระจายฐานการผลิตไปยังอีกประเทศหนึ่ง เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า จากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ส่งผลให้บริษัทของจีนและประเทศอื่น ๆ มีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามมากขึ้น ซึ่ง FDI มีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีจำนวนโครงการ FDI จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ LH Bank Advisory ประเมินแนวโน้มความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) ของตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มจำกัดมากขึ้น โดยรัฐบาลได้เร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมูลค่า (Valuation) อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น แนะนำเป็นการทยอยซื้อสะสมในตลาดหุ้นเวียดนามสำหรับการลงทุนระยะยาว
วิกฤตหนี้ท่วม ลูกระเบิดก้อนใหญ่ของสหรัฐฯ
เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของ ลงทุนอย่างไรในช่วงเข้าสู่ครึ่งหลัง โดยทาง LH Bank Advisory สรุปเนื้อหาในฉบับ I ว่า ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ข้อมูล (Data dependent) ทำให้เฟดตัดสินใจเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งสู่ระดับ 5.50%-5.75% ในครึ่งปีหลัง และในฉบับ II ทางเราได้เผยแพร่ข้อบ่งชี้ว่า ดอลลาร์จะกลับตัวอ่อนค่าลง ด้วยผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่เปลี่ยนไป จนส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์ลงทุนที่ได้รับอานิสงส์จากเงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งทั้งสองประเด็นนักลงทุนที่ติดตามจะเริ่มเห็นสัญญาณจากตลาดว่าเริ่มมีมุมมองสอดคล้องไปในทางที่ทางเราได้คาดไว้ก่อนหน้า โดยประเด็นในสัปดาห์นี้ที่ทางเราพิจารณา คือ วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเราย้อนไปช่วงไตรมาส Q1/2023 ที่ รายงานผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 2% ด้วยแรงหนุนจากภาคการบริโภคและการท่องเที่ยวที่มีอานิสงส์จากการเปิดเมืองและความต้องการที่ถูกอั้นไว้ (Pent up demand) ผนวกกับมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ จนทำให้ตอนเริ่มเปิดเมือง มีปริมาณเงินฝากที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อย่างไรก็ตามในเวลานี้ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการจับจ่ายของภาคเอกชน ซึ่งครองส่วนแบ่ง 70% ของ GDP มีเหตุให้ชะลอตัวลง ด้วยตอนนี้ผู้บริโภคสหรัฐฯกำลังแบก มูลค่าหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงกว่าเงินเก็บออม โดยพิจารณาจากปริมาณหนี้ครัวเรือนของสหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดใหม่สูง $17 Trillion และเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต $986 Billion ขณะที่ปริมาณเงินฝากปรับลดลงสู่ระดับค่าเฉลี่ยที่ $841 Billion ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงลบที่สะท้อน การเกิดปัญหาหนี้ท่วมในภาคครัวเรือน ภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง แม้ในเวลานี้ด้วยการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ยังทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อบริโภคและสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ระดับต่ำ 1.75% และ 2.9% แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อย่าง อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงถึง 20% ไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจากการชำระหนี้ นอกจากเป็นปัจจัยกดดันแก่ผู้บริโภคต้องชะลอการจับจ่าย และยังเพิ่มความเสี่ยงที่แนวโน้ม NPL สูงขึ้น จนสร้างความเสียหายไปที่ภาคการเงินอีกด้วย จากปัจจัยข้างต้นทำให้ทาง LH Bank Advisory ยังคงมุมมองการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีอยู่ และมีโอกาสครอบคลุมระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด ที่ชื่อ Output Gap หรือ การเทียบส่วนต่างระหว่างมูลค่า GDP ที่เกิดขึ้นจริง (Real) เทียบกับ ค่าคาดการณ์ของ GDP (Potential) ซึ่งคาดว่า Output Gap ติดลบ ต่อเนื่องกันจนถึงปี 2024 ซึ่งบ่งชี้ถึง เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเติบโตในระดับต่ำกว่าที่ที่ควรจะเป็น สะท้อนได้ถึงแนวโน้มการจับจ่ายของภาคเอกชนที่ถดถอย และท้ายที่สุดจะส่งผลให้ภาคการจ้างงานเข้าสู่ช่วงชะลอตัว จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันอัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงด้วยนั่นเอง
ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566