ข่าวสารรายงานการลงทุน LH Bank Advisory (Weekly Report)
เงินฝากทั้งหมดสินเชื่อทั้งหมดประกันทั้งหมดการลงทุนทั้งหมดบริการทั้งหมดดิจิทัลแบงก์กิ้งทั้งหมดLHB Membership ทั้งหมด
ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 10-07-2023

Wealth Weekly Report 10-07-2023
 

มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์

แม้ว่าจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้ และแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่แข็งแกร่ง ส่งให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่า Dollar Index ในครึ่งหลังของปีนี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 100-105 เนื่องจากสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุด จึงลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของดอลลาร์ มีโอกาสส่งผลให้เกิด Fund Flow จากสหรัฐไปยังประเทศอย่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) รวมถึงตลาดตราสารหนี้เอเชียจะมีความน่าสนใจมากขึ้น

สืบเนื่องจากหัวข้อ ลงทุนอย่างไรในช่วงเข้าสู่ครึ่งหลังฉบับที่ I เข้าสู่ฉบับที่ II ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินว่า ด้วยทิศทางในครึ่งปีหลังที่เงินเฟ้อไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นเหตุให้ธนาคารสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่การดำเนินนโยบายธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษ ยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ จึงกลายเป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้าสินทรัพย์สกุลเงินทั้งสกุลเงินยูโร กับสกุลเงินปอนด์ของอังกฤษ ทำให้ค่าเงินทั้งสองสกุลปรับสูงขึ้น และกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ดังนั้นทางเรา จึงมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่ม Commodities และ ตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย เพราะได้รับอานิสงส์จากเงินดอลลาร์อ่อนค่า

HOT ISSUE TO WATCH THIS WEEK

ดอลลาร์จะกลับทิศ?

นับจากต้นปี 2022 ที่ผ่านมา การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีผลทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวลง ส่งผลให้ Dollar Index อ่อนค่าลง โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8%YoY ในเดือนพ.ค. จากระดับ 4.3%YoY ในเดือนม.ย. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.6%YoY ในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าระดับ 4.7%YoY ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7%YoY

แม้ว่าจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้ และแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่แข็งแกร่ง ส่งให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่า Dollar Index ในครึ่งหลังของปีนี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 100-105 เนื่องจากสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุด จึงลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของดอลลาร์

นอกจากนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง และแรงส่งของเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้
ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอื่นๆ ดีขึ้น จึงช่วยจำกัดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และจากถ้อยแถลงของประธานเฟดสอดคล้องกับรายงาน Dot Plot ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% จาก Dot Plot ที่สะท้อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 2024 ที่ 4.6% ดังนั้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชีย มีโอกาสส่งผลให้เกิด Fund Flow จากสหรัฐไปยังประเทศอย่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) รวมถึงตลาดตราสารหนี้เอเชียจะมีความน่าสนใจมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) ของตราสารหนี้ คือ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้หักด้วยอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นๆ ซึ่งในเดือนพ.ค. 2023 มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้สุทธิ 10.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย สูงสุดในรอบ 2 ปี จากสัญญาณเงินเฟ้อที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีความคาดหวังว่าธนาคารกลางต่างๆ จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Capital Gain) จากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย

ศึกตัดสินระหว่างธนาคารกลางกับเงินเฟ้อ!

สืบเนื่องจากหัวข้อ ลงทุนอย่างไรในช่วงเข้าสู่ครึ่งหลังฉบับที่ I เข้าสู่ฉบับที่ II ซึ่งทาง LH Bank Advisory สรุปเนื้อหาในฉบับ I ว่า ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ข้อมูล (Data dependent) มีโอกาสทำให้เฟดตัดสินใจเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งสู่ระดับ 5.75% ในครึ่งปีหลัง ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ในเวลานี้

สำหรับในสัปดาห์นี้ สถานการณ์ที่เราพิจารณาต่อเนื่องคือ เงินเฟ้อดื้อดึงไม่ยอมลงไปที่เป้าหมาย หากนักลงทุนมองภาพใหญ่ พบว่า นอกจากในครึ่งปีหลังที่เงินเฟ้อไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป แล้วนั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่ ธนาคารกลางเหล่านี้ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับที่เอื้อต่อการ
ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ดังนั้นหลังการประชุมเฟดล่าสุด ได้ประกาศแนวทางล่วงหน้า (Forward Guidance) ของการดำเนินนโยบายการเงิน ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีกสองครั้งภายในปีนี้ เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางเรายืนยันภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีหน้า (1H24) พร้อมกับโอกาสที่เงินเฟ้อลดลงเข้าสู่ระดับเป้าหมาย ทำให้เฟดสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินมาเป็นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง (Fed Pivot) ซึ่งมุมมองนี้ตรงข้ามกับสถานการณ์ในฝั่งธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่เศรษฐกิจในเวลานี้ของอังกฤษมีอัตราเติบโตต่ำ 0.1% ติดต่อกันสองไตรมาส ขณะที่เศรษฐกิจของยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของทั้งสองประเทศยังปรับขึ้นต่อ โดยดูจากรายงานล่าสุดเงินเฟ้อพื้นฐานของอังกฤษปรับเพิ่มจากเดือนก่อนมาที่ 7.1% จากระดับ 6.8% เช่นเดียวกับเงินเฟ้อพื้นฐานของยุโรปปรับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 5.4% จากระดับ 5.3% ของรายงานเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงและห่างไกลจากเป้าหมาย

ซึ่งทาง LH Bank Advisory เรียกสถานการณ์ที่เกิดในยุโรปและอังกฤษว่า Stagflation จึงเป็นสาเหตุให้ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาการใช้เครื่องมือผสมผสานระหว่างการเงินและการคลัง คือการดำเนินนโนบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุม และเพิ่มการใช้จ่ายจากนโยบายการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ

ด้วยผลกระทบจากความแตกต่างกันของแนวทางดำเนินโยบายการเงินระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มสมาชิกยุโรปและอังกฤษ ในช่วงครึ่งปีหลังจนถึงครึ่งปีหน้า (2H23-1H24) จึงเกิดคำถามถึงทิศทางของค่าเงินดอลลาร์อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะสกุลเงินยูโร (EUR) และสกุลเงินปอนด์ของอังกฤษ (GBP) ครองสัดส่วน 69.5% ของตระกร้าเงินดอลลาร์ กำลังจะแข็งค่าขึ้น จนเป็นปัจจัยกดดันให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่า

ศึกตัดสินระหว่างธนาคารกลางกับเงินเฟ้อ!

ทาง LH Bank Advisory ประเมินสถานการณ์หลังศึกตัดสินระหว่างธนาคารกลางกับเงินเฟ้อ โดยคาดว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่ายาวนานมาครบปีนี้เปลี่ยนมาเป็นอ่อนค่า ได้หรือไม่?

  • ตลาดรับรู้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไปหมดแล้ว
    จากก่อนหน้านี้ที่ท่าทีของสหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายรัดกุมแบบแข็งกร้าวปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% สู่การพักการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน และจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 2 ครั้งในปีนี้ ตาม Forward Guidance จากการประชุมล่าสุด ซึ่งตลาดตราสารหนี้ได้รับรู้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว โดยสะท้อนจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับขึ้นแรง และทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯกับประเทศอื่นมีแนวโน้มแคบลง ส่งผลให้การไหลออกของเงินทุนจากตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศเข้าสู่สกุลดอลลาร์น้อยกว่าช่วงที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอดีต​
  • ช่วงเวลาที่นโยบายการเงินสนับสนุนสกุลเงินยูโรกับปอนด์ดีที่สุด
    ขณะที่เฟดพักการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุด ส่งผลให้ช่วงเวลานี้ด้วยการดำเนินนโยบายธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จึงเป็นช่วงเวลาที่นโยบายการเงินยังหนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นจึงดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้าสินทรัพย์สกุลเงินทั้งสกุลเงินยูโร (EUR) กับสกุลเงินปอนด์ของอังกฤษ (GBP) ทำให้ค่าเงินปรับสูงขึ้น

จากปัจจัยข้างต้นทางเราจึงทำการวัดมูลค่าเงินสกุลดอลลาร์กับสกุลเงินอื่น ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพที่แท้จริง (REER) เพื่อตัดผลของปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ พบว่า REER ของสหรัฐฯ ได้ทำจุดสูงสุด 112.98 ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 มีแนวโน้มพลิกเป็นขาลง บ่งชี้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์มีประสิทธิภาพที่แท้จริงลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มเงินตราประเทศคู่ค้า ซึ่งตรงข้ามกับทิศทาง REER ของกลุ่มสมาชิกยุโรปและอังกฤษ ที่มีแรงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินผลักสกุลเงินทั้งสองแข็งค่าขึ้น

ดังนั้นเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้  มีโอกาสที่ดอลลาร์จะกลับตัวอ่อนค่าลง ด้วยผลของการดำเนินนโยบบายการเงินที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์ลงทุนที่ได้รับอานิสงส์จากเงินดอลลาร์อ่อนค่า อย่าง Commodities และ ตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย

Weekly Report 10-07-2023

ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง