Fed ‘No Rush’ US Small still ‘Run’? ชัยชนะของทรัมป์ในสมัยที่ 2 ไม่ได้ผิดจากที่ตลาดคาดหวัง และกลยุทธ์ “Trump Trade” นำพาให้ Russell 2000 (หุ้นขนาดเล็ก)ปรับตัวขึ้นแรงรับประโยชน์จากนโยบายปรับลดภาษีนิติบุคคลของทรัมป์ ที่มีแผนขยายระยะเวลานโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 2026, แผนการปรับลดอัตราเก็บภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 20% และแผนที่จะปรับลดอัตราการเก็บภาษีนิติบุคคลไปสู่ระดับ 15% สำหรับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ (Made in America) ซึ่งนโยบายดังกล่าวเอื้อให้กำไรของบริษัทในสหรัฐฯ เติบโตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Russell 2000 ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด แสดงหลักฐานจาก Figure 1 ว่า Russell 2000 มีโอกาสถูกประมาณการรายได้เพิ่มขึ้น 1.2% หากอัตราภาษีนิติบุคคลปรับลดลง 1% อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นได้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่และพลิกปรับตัวลงหลังจากคำแถลงของประธาน Fed ที่แสดงท่าทีต่อการดำเนินนโยบายปรับลดดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างระมัดระวังไม่เร่งรีบเพราะเงินเฟ้อมีสัญญาณปรับสูงขึ้น (No rush) ซึ่งไม่ได้สร้างความประหลาดใจกับทาง LH Bank Advisory เนื่องจากทางเราได้ประเมินถึงความดื้อดึงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่จนถึงต้นปี 2025 โดยมีสาเหตุจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ที่ใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นภาคบริโภค และการจัดเก็บภาษีการค้า จนเป็นเหตุให้อัตราการปรับลดดอกเบี้ยจะออกมาน้อยกว่าที่ตลาดเคยคาดหวังในอดีต ส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดสินทรัพย์ลงทุน โดยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ปรับสูง 100 bps. จากจุดต่ำสุดเดือนกันยายน มาอยู่ที่ 4.45% ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดการปรับฐาน ซึ่งกลุ่ม Russell 2000 มีการปรับตัวลงแรง เพราะหุ้นขนาดเล็กมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายดอกเบี้ยสูง เนื่องจากโครงสร้างหนี้ของ Russell 2000 เป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยลอยตัว (Float rate) สูงถึง 38% ขณะเดียวกัน S&P 500 มี Float rate 9% ขณะที่ทางเราพบว่า Total Debt to EBITDA ของกลุ่ม Russell 2000 ปรับสูงขึ้นจนแตะ 6.71 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 20 ปี มีสาเหตุจากการก่อหนี้ที่มากขึ้น สวนทางกับกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) ที่ชะลอตัวลง ซึ่งบ่งชี้จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ที่บริษัทใน Russell 2000 ได้มีการประกาศงบมาแล้วกว่า 70% ของจำนวนบริษัททั้งหมด แต่กลับพบว่าไม่มีการเติบโตของรายได้ในไตรมาสนี้ ด้วยเหตุนี้ความผันผวนของกลุ่ม Russell 2000 จึงมีทั้งประเด็น ‘No Rush’ และ ‘ผลประกอบการที่น่าผิดหวัง’ ทางเราประเมินว่าประเด็น ‘No Rush’ ด้วยการก่อหนี้ที่เป็น Float rate ได้รับประโยชน์อย่างมากในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ แต่สถานการณ์ที่ดอกเบี้ยชะลอการปรับลดลง หรือลดดอกเบี้ยออกมาน้อยกว่าคาด ซึ่งไปกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในประมาณการกำไรให้ลดน้อยกว่าที่ตลาดเคยคาด ขณะเดียวกันส่วน ‘ผลประกอบการที่น่าผิดหวัง’ ทางเรามองว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง เพราะประโยชน์ของนโยบายทรัมป์จะไปช่วยรายได้บริษัทจดทะเบียนตอนปี 2026 ที่มีการต่ออายุนโยบายดังกล่าว พร้อมได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากปรับอัตราภาษีเก็บลดลงอีก 1% ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะ Offset แนวโน้มรายได้ที่ยังคงชะลอตัว เพราะกลุ่มหุ้น Small cap. ไม่มี Bargaining power ที่จะผลักภาระต้นทุนที่สูงในช่วงเงินเฟ้อสูง ไปยังราคาสินค้าขายแก่ลูกค้าเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนกลุ่มหุ้น Small cap เหมาะกับลูกค้าลงทุนสไตล์ Momentum ตามปัจจัยหนุนจากบรรยากาศที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งและชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแนะนำให้ลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 10-20% ของพอร์ตและมีจุดตัดขาดทุน 5-10%
The Impacts of Trump’s Tariffs on Semiconductor อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ หากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% และจากประเทศอื่นๆ ในอัตรา 10%–20% ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของทรัมป์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาษีนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์โดยตรงจากจีนเพียงอย่างเดียวมีผลกระทบอย่างจำกัด โดยสหรัฐฯ นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่าสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด 427 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 แต่ส่งกระทบอย่างมากต่อราคา การส่งออก และห่วงโซ่อุปทานการผลิต อีกทั้งทรัมป์อาจขยายการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ "America First" เพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปบางรายในสหรัฐฯ ขณะที่มีความไม่แน่นอนต่อนโยบาย CHIPS Act ของรัฐบาลไบเดน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตชิปในสหรัฐฯ และสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัทในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการดึงดูดผู้ผลิตรายใหญ่จากเอเชียอย่าง TSMC ของไต้หวันที่จะได้รับเงินช่วยเหลือและเงินกู้จากสหรัฐฯ มูลค่า 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานผลิตสามแห่งในแอริโซนา ซึ่งไต้หวันผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้มากกว่า 60% ของอุปทานทั้งหมดของโลก ทั้งนี้ทรัมป์ยังคงสนับสนุนการสร้างโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ แต่อาจมีการทบทวนนโยบายและข้อตกลงบางประการ ส่งผลให้นโยบาย CHIPS Act ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ชิปที่ TSMC ผลิตในไต้หวันสำหรับ Apple จะถูกส่งไปที่จีนหรืออินเดียเพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น iPhone ดังนั้น ชิปดังกล่าวจึงไม่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี แต่ iPhone จะถูกเรียกเก็บภาษี ดังนี้ภาษีนำเข้าจะกระตุ้นให้ธุรกิจของสหรัฐฯ จัดหาชิปในประเทศมากขึ้น และช่วยโน้มน้าวให้ผู้ผลิตชิปรายใหญ่สร้างโรงงานในสหรัฐฯ และช่วยกระตุ้นการจ้างงานของสหรัฐฯ ได้ ส่วน Nvidia ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับทิศทางของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 สูงกว่าคาดทั้งยอดขายและกำไร โดยรายได้รวมขยายตัว 94%YoY และคาดการณ์ไตรมาส 4 เติบโตประมาณ 70% ซึ่งชะลอตัวลงจากการเติบโต 265% ในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ขณะที่ลูกค้าหลายรายของ Nvidia ซึ่งรวมถึง Microsoft, Oracle และ OpenAI เริ่มได้รับการส่งมอบชิป Blackwell ซึ่งเป็นชิป AI รุ่นใหม่แล้ว และคาดว่าชิป Blackwell จะสร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ในไตรมาสถัดไป ทั้งนี้แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตจะชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของกระแส AI ทั้งนี้จากการขึ้นกำแพงภาษีและสงครามการค้า 2.0 คาดว่าจะส่งผลให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ลดลงประมาณ 4% ในช่วงปี 2025-2026 ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ตามนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงการการลดภาษีนิติบุคคล จะส่งผลเชิงบวกต่อกำไรต่อหุ้นและ Sentiment การลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว ทางเราแนะนำรอจังหวะเข้าซื้อกองทุนเปิด แอล เอช เซมิคอนดักเตอร์ (LHSEMICON-A) เมื่อราคาของ iShares Semiconductor ETF (SOXX) ยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน
Trump's return risks trade tension with Japan การกลับมาของทรัมป์จะยังคงเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเหมือนครั้งแรกที่ทรัมป์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งในช่วงนั้นตลาดหุ้น Nikkei 225 ปรับตัวขึ้นกว่า 20% จึงเกิดเป็นคำถามที่นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น โดยทาง LH Bank Advisory ประเมินความเสี่ยงของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดังต่อไปนี้ ความเสี่ยงจากการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ เนื่องจากในช่วงตั้งแต่ปี 2016 ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 40% โดยสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 30% ของมูลค่ารวม ซึ่งทางเราประเมินว่าญี่ปุ่นพึ่งพาการส่งออกมาเกินไป ในขณะที่การกลับมาของทรัมป์ ที่มีนโยบายพยายามลดการขาดดุลการค้าลง โดยในปี 2023 ญี่ปุ่น ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุด ส่งผลให้ญี่ปุ่นอาจเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ โดยทาง Mizuho Securities ประเมินว่าหากสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมด 10% อาจส่งผลให้ GDP ของญี่ปุ่นหดตัว 0.13% และลดลงอีก 0.12% หากขึ้นภาษีนำเข้า 60% กับสินค้าที่ผลิตในจีน อีกทั้งญี่ปุ่นกำลังถูกสอบสวนเกี่ยวกับการทุ่มตลาดสินค้าเกี่ยวกับเหล็กจากทางยุโรปอีกด้วย ดังนั้นทางเราจึงประเมินว่าจากทรัมป์ 2.0 อาจจะกดดันการเติบโตของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะยาว ความเสี่ยงจากด้านนโยบายการเงินที่ตึงตัวของ BoJ ซึ่งนายอุเอดะ ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม โดยแถลงว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ BoJ ซึ่งเกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย เป็นเหตุให้ BoJ มองว่าเงินเฟ้อที่ฟื้นตัวขึ้นมาในรอบนี้ค่อนข้างยั่งยืน โดยได้รับแรงหนุนจากค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วง High Season ส่งผลให้เงินเฟ้อด้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ Yield Spread ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แคบลง ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น ในที่สุดจะส่งผลต่อการส่งออกของญี่ปุ่น ความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง เนื่องจากรัฐบาลของนายอิชิบะ จากพรรค LDP สูญเสียเสียงข้างมากในรอบ 15 ปี โดยนโยบายสำคัญคือการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และการสนับสนุนเกี่ยวกับ Semiconductor อย่างไรก็ตาม Debt to GDP ของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 219% เมื่อ BoJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลให้การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจจะดำเนินไปได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามทางเราประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปียังเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้เอื้อต่อการดำเนินนโยบายขาดดุลได้เหมือนสมัยที่ผ่านมา บ่งชี้การส่งออกของญี่ปุ่นยังคงได้รับประโยชน์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าในขณะนี้ และประเมินว่า BoJ อาจไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ว่าค่าจ้างที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขยอดค้าปลีก และอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เป็นทิศทางเดียวกับทาง Fed ที่อาจไม่รีบร้อนลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้การส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี เมื่อพิจารณาจาก Valuation พบว่าค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี เนื่องจาก Bloomberg Consensus ปรับเพิ่มประมาณการ EPS ในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์อุปสงค์ของจีนและสหรัฐฯ ฟื้นตัว ด้วยเหตุนี้ทางเราแนะนำให้สะสมโดยคุมสัดส่วนไม่เกิน 10% ของพอร์ต
Announcement on 25 November 2024