Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 23-09-2024

Wealth Weekly Report 23-09-2024
 

FRONT LOAD
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในการประชุมนโยบายการเงิน FOMC วันที่ 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา และส่งสัญญาณผ่าน Fed Dot Plot ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้ และลดอีก 1% ในปี 2025 ซึ่งการที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยในลักษณะ Front Load หรือลดแบบเร็วและแรง สะท้อนการตอบรับต่อสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในเศรษฐกิจ ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าความอ่อนแอของตลาดแรงงาน และความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อจำกัดความเสี่ยงของหนี้เสีย อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต ดังนั้นทางเราจึงแนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่มีความทนทานต่อภาวะตลาด (Defensive stocks) เป็นหลัก  เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน
  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ในอนาคตผ่านนโยบาย “New Growth Engine” โดยสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทยได้ นำโดยโครงการ Financial Hub ที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เริ่มจับมือกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งสัญชาติไทย และต่างประเทศ เพื่อยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบ AI รวมทั้ง Cybersecurity โดยทางรัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้าน Data Center ให้มีจำนวนมากขึ้น และสร้างระบบดาวเทียมโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนของนโยบายจึงจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 –10 ปี สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย จึงยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้มากน้อยเพียงใด แต่นับเป็นนิมิตหมาย
    ที่ดีต่อตลาดทุนไทย จึงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นไทย เพื่อรับการเติบโตในอนาคต

TOPIC FOCUS

Front Load

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในการประชุมนโยบายการเงิน FOMC วันที่ 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา และส่งสัญญาณผ่าน Fed Dot Plot ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้ และลดอีก 1% ในปี 2025 ซึ่งการที่ เฟดปรับลดดอกเบี้ยในลักษณะ Front Load หรือลดแบบเร็วและแรง สะท้อนการตอบรับต่อสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในเศรษฐกิจ โดยเฟดได้ปรับคาดการณ์การว่างงานในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 4.0% เป็น 4.4% ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินความเป็นไปได้ของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยจากประเด็นดังต่อไปนี้ 

  • ระดับสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2024 ลดลง 0.3% ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 6 ในช่วง 9 ไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับสินทรัพย์ของธนาคารลดลง โดยธนาคารขนาดใหญ่ 15 แห่งจากธนาคาร 20 แห่งที่ใหญ่ที่สุด มีสินทรัพย์รวมหดตัว ซึ่งธนาคารได้ลดการเปิดรับความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อหลายประเภท รวมถึงสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และและสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่ออาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.7% ในไตรมาส 2/2024 
  • ยอดค้างชำระบัตรเครดิตของชาวอเมริกันอยู่ที่ 1.142 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 2/2024 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วง Covid-19 ที่ระดับ 770 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1/2021 โดยอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2/2024 อยู่ที่ 21.51% เพิ่มขึ้นจากระดับ 14% ในช่วงก่อน Covid-19
  • ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payroll) ในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่ง โดยตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิ.ย. และก.ค. ถูกปรับลดลง 61,000 ตำแหน่ง และ 25,000 ตำแหน่ง ตามลำดับ ทำให้การจ้างงานเฉลี่ยในช่วง 3 เดือน (มิ.ย.–ส.ค.) เพิ่มขึ้น 116,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของ Covid-19
  • ยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) ในเดือนก.ค. อยู่ที่ 3.95 ล้านหลัง เพิ่มขึ้น 1.3%MoM ฟื้นตัวจากการหดดตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือนที่ 5.4% ในเดือนมิ.ย. โดยยอดขายบ้านมือสองปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ส่งผลให้ราคาขายบ้านมือสองเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.2%YoY อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านมือสองลดลง 2.5%YoY และ สต็อกบ้านในตลาดพุ่งขึ้น 19.8% ในเดือนก.ค. สะท้อนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง

ทั้งนี้ จากแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 3/2024 ยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 0.1%MoM ในเดือนส.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 0.2% และการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.8%MoM ในเดือนส.ค. หลังจากร่วงลง 0.9% ในเดือนก.ค. สะท้อนว่าภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตามความอ่อนแอของตลาดแรงงาน และความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อจำกัดความเสี่ยงของหนี้เสีย อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต ดังนั้นทางเราจึงแนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่มีความทนทานต่อภาวะตลาด (Defensive stocks) เป็นหลัก  เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน

Growth Engines and Opportunities in Thai Market

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นกว่า 10% ภายหลังจากเหตุการณ์ 2nd Black Monday โดยได้รับแรงหนุนจากเสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน รวมทั้งนโยบายสนับสนุนตลาดทุนไทย อย่างกองทุนวายุภักษ์ ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท เข้ามาอุดหนุนตลาดหุ้นเช่นกัน ทางเราประเมินว่าราคาหุ้นได้ Price in เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวไปแล้ว และนโยบายต่างๆ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้ อย่างไรก็ตามในขณะนี้เราเริ่มเห็นแสงสว่างจากนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะนโยบาย “New Growth Engine” ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงมองว่าด้วยนโยบายนี้จะผลักดันอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้

  • นโยบายผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) โดยรัฐบาลจะออกแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถจูงใจนักลงทุน จึงสะท้อนกลับออกมาในภาพของ Virtual Bank เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเงินของไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เริ่มจับมือลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งบริษัทสัญชาติไทย และต่างประเทศ โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทางเราจึงประเมินว่านโยบายนี้จะเป็นใบเบิกทางให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตขึ้นไปได้
  • รัฐบาลมีนโยบายในการนำประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) โดยผ่านการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Could First Policy) ซึ่งเป็นเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ ทั้งการสร้างระบบ AI/ML เพื่อมาช่วยในการสรรค์สร้างโมเดล สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ๆ รวมทั้งเข้ามาช่วยในการเพิ่ม Productivity ของพนักงาน ซึ่งเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สิ่งที่ได้อานิสงส์ตามมาคือการป้องกันทางไซเบอร์ (Cyber Security) ซึ่งรายงานจาก ศูนย์ PDPC Eagle Eye พบว่าสัดส่วนการรั่วไหลของข้อมูลกรณีซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมายมีจำนวนมาก โดยค่าปรับบริษัทที่ทำข้อมูลรั่วไหลเป็นเงินกว่า 7 ล้านบาทแล้ว จากการแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหล นำไปสู่พื้นฐานของการต่อยอดธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย
  • โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ Data Center โดยมี Capex กว่า 7.5 เท่า นอกจากนี้ยังจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับ Smart Grid เพื่อรองรับการใช้พลังงานจำนวนมาก จากรายงานของ BofA พบว่าต้นทุนการก่อสร้าง และต้นทุนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน จึงเป็นแต้มต่อในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดย BOI รายงานตัวเลขการอนุมัติโครงการ ในกลุ่ม Data Center ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นกว่า 38%QoQ นับเป็นสัญญาณที่ดี
  • อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคม จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากทางรัฐบาลจะจัดสรรคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ให้มีคุณภาพ และครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ประเมินว่า New Growth Engine จะช่วยให้เกิด New S-Curve ของประเทศไทย ซึ่งหากได้โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพแล้ว จะมีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น ในขณะนี้ทางเราเล็งเห็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าทางรัฐบาลจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่มากน้อยเพียงใด ดังนั้นทางเราจึงประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 – 10 ปี ในการทำให้อุตสาหกรรมใหม่เติบโต จนกระทั่งสามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทได้ และทำให้บริษัทเข้าไป Listed อยู่ในตลาดทุนไทยได้ จึงแนะนำให้เลือกลงทุนตลาดหุ้นไทย เพื่อรับการเติบโตในอนาคต

Weekly Report 23-09-2024

Announcement on 23 September 2024

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง