Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 17-06-2024

Wealth Weekly Report 17-06-2024
 

Market Alert
  • จากรายงานดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ที่ขยายตัวกำลังบ่งชี้ภาพเศรษฐกิจ Stagflation ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สร้างความลำบากให้ Fed ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ตามแผน ดังนั้นจึงเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นถึงกลาง ยังให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น กองทุนแนะนำ คือ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ (UGIS) คุณภาพของตราสารหนี้มีความน่าเชื่อถือเฉลี่ยที่ระดับ AA- พร้อมความโดดเด่นในการบริหารของ PIMCO ที่กลยุทธ์การลงทุนมีความหลากหลายเพื่อสร้างผลตอบแทนเหนือดัชนีชี้วัด
  • BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0 – 0.1% ในการประชุมวันที่ 14 มิ.ย. ทั้งนี้ ทางเราประเมินว่า BOJ มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน และแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อพิจารณาด้าน Valuation ของดัชนี Nikkei225 สะท้อนว่าราคาหุ้นไม่ถูกแล้ว ขณะที่การส่งออกขยายตัว หนุนโดยค่าเงินเยนที่อ่อนค่า แต่การส่งออกเชิงปริมาณหดตัวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความอ่อนแอของการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
  • เร็วเกินไปที่จะขายหุ้นจีนออกในเวลานี้ เนื่องจากตลาดหุ้นจีนถูกกดดันจากกำแพงภาษีสินค้าจากทั้งสหรัฐฯ และยุโรป และราคาบ้านที่กลับมาปรับตัวลง อย่างไรก็ตามมองว่าตลาด Price In ไปแล้ว และพบว่ายอดขายบ้านใหม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในหลายพื้นที่ ประกอบกับรัฐบาลจีนยังคงออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ เพื่อระบายสต๊อกอสังหาฯ ออกไป อีกทั้งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นสะท้อนอุปสงค์สินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มากขึ้นด้วย ส่งผลให้ภาคการผลิตในประเทศฟื้นตัวกลับมา ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นจีนเมื่อพักฐาน

TOPIC FOCUS

Markets on Alert for Stagflation Clues in ISM Services Data​

ดัชนีราคาสินค้า ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน (Core CPI) เดือนพ.ค. ออกมาลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ สู่ระดับ 3.4%YoY จาก 3.6%YoY ทาง LH Bank Advisory มองว่า การปรับลดของดัชนีราคาดังกล่าวมาจากราคาสินค้า (Core goods) ปรับลดลงมากขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่าง (Unemployment rate) ที่เพิ่มขึ้น เพราะ ภาคการผลิตเกิดความอ่อนแอ และชะลอตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการปรับลดการจ้างงาน ขณะที่สินค้าภาคบริการ (Core service) ยังผลักดันให้เงินเฟ้อดื้อดึงในระดับสูง อันเป็นผลของค่าจ้างแรงงานภาคบริการที่ขยายตัว ซึ่งแรงกดดันของเงินเฟ้อภาคบริการเป็นเหตุให้ Fed ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง ในปีนี้ ดังนั้นทางเรามองว่าแนวโน้มภาคบริการในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 เป็นปัจจัยบ่งชี้ว่าตลาดการลงทุนในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ภายใต้ Stagflation Economy จากปัจจัยเหล่านี้

  • รายงานดัชนีฝ่ายจัดซื้อ ทั้งภาคผลิต (ISM Manufacturing Index) และภาคบริการ (ISM service index) พบว่า แนวโน้มกิจกรรมภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับหดตัว ต่อเนื่องกัน 2 เดือน สู่ระดับ 48.6 จุด ขณะที่กิจกรรมทางการผลิตภาคบริการพลิกกลับมาขยายตัวที่ระดับ 53.6 จุด ทั้งนี้การกลับมาของภาคบริการซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครองสัดส่วน 60% ของ GDP ได้ผลักดันให้ค่าจ้างรายชั่วโมงกลับมาฟื้นตัว ซึ่งทางเรามองว่าการปรับขึ้นของค่าจ้างนี้มีโอกาสกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อที่ดูเหมือนชะลอตัว ให้กลับมาเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 3-6 เดือนตามการขยายตัวของความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคบริการ หลักฐานบ่งชี้ใน Figure 1
  • กิจกรรมภาคบริการส่วนของความต้องการแรงงานซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตแต่ยังอยู่ในฝั่งหดตัว จึงเป็นเหตุให้ทางเราคาดว่าตำแหน่งงานที่เปิดใหม่ของเดือนพ.ค. มีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยอัตราการว่างงานที่ปรับสูงขึ้นมา 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนความเปราะบางในภาคแรงงาน ในทางตรงข้ามด้านผู้ประกอบการงานบริการมีความเชื่อมั่นที่ภาคบริการจะขยายตัว แต่กลับระมัดระวังการเพิ่มตำแหน่งงาน เพราะ อัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น สถานการณ์เงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยเหตุนี้ภาคบริการที่แข็งแกร่งอาจจะไม่ได้ช่วยภาคแรงงานได้เท่ากับในอดีต จนส่งผลให้ภาคบริโภคชะลอตัวตาม เป็นผลกระทบต่ออัตราการเติบโตเศรษฐกิจ

จากปัจจัยข้างต้นที่ยืนยันภาพ Stagflation Economy หนุนให้กลยุทธ์การลงทุน มีสัดส่วนลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นถึงกลาง (อายุคงเหลือ< 5 ปี) ซึ่งให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น บ่งชี้ใน Figure 2 โดยกองทุนแนะนำ คือ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัมสตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ มี 2 ชนิด คือ UGIS-N (แบบสะสมมูลค่า) และ UGIS-A (แบบรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ) ลงทุนในกองทุนหลักคือ PIMCO GIS Income Fund ที่มีนโยบายลงทุนกระจายตราสารหนี้ในหลายชนิดทั่วโลก เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้สถาบันการเงิน หรือ ตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นต้น มีอายุคงเหลือตราสารหนี้ 3.9 ปี คุณภาพของตราสารหนี้มีความน่าเชื่อถือเฉลี่ยที่ระดับ AA- (Investment Grade) สะท้อนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำมาก พร้อมความโดดเด่นในการบริหารของ PIMCO บลจ. ระดับโลกที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้มากว่า 50 ปี ได้ใช้กลยุทธ์การลงทุนได้ที่หลากหลายเพื่อสร้างผลตอบแทนเหนือดัชนีชี้วัด (Active) และประมาณการจากรายงานล่าสุด YTM 6.99% ต่อปี

BOJ hints of future rate hikes

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% ในการประชุมวันที่ 14 มิ.ย. ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินว่า BOJ มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังการอ่อนค่าอย่างหนักของเงินเยน เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน โดยการลดช่องว่างระหว่าง Bond Yield สหรัฐฯ และญี่ปุ่น และแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นด้วยเหตุผลดังนี้

  • ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) ปรับตัวลดลง 0.7%YoY ในเดือนเม.ย. จากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อราคาพลังงานและการนำเข้าอื่นๆ ของญี่ปุ่น ส่งผลให้ BOJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าค่าจ้างที่เป็นตัวเงินจะเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ซึ่งจะช่วยหนุนให้การบริโภคภายในประเทศเติบโต
  • •GDP ไตรมาส 1/2024 หดตัว 0.5%QoQ เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนกว่า 50% ของ GDP หดตัว 0.7%QoQ ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็ตาม สะท้อนเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินเยนอ่อนค่าแล้วกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯ ที่ระดับ 5.25-5.50% และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของญี่ปุ่นที่ 0.1% ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับ 3.5%YoY ในเดือนพ.ค. Fed จึงยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นชะลอตัวเหลือ 2.4%YoY ในเดือนเม.ย. แต่ BOJ มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน
  • ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคผลิตของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.4 ในเดือนพ.ค. จากตัวเลขเดือนเม.ย.ที่ 49.6 กลับมาอยู่ในโซนขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 53.8 ในเดือนพ.ค. ลดลงเล็กน้อยจาก 54.3 ในเดือนเม.ย. สะท้อนกิจกรรมทางธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ฟื้นตัว แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทาง LH Bank Advisory จึงแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อพิจารณาด้าน Valuation ดัชนี Nikkei225 มี Forward P/E ที่ 22.3 เท่า เป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 20.5 เท่า สะท้อนว่าราคาหุ้นไม่ถูกแล้ว ขณะที่การส่งออกขยายตัว 8.3%YoY ในเดือนเม.ย. บ่งบอกถึงรายได้จากการส่งออกที่สูงขึ้น หนุนโดยค่าเงินเยนที่อ่อนค่า แต่การส่งออกเชิงปริมาณหดตัว 3.2%YoY ในเดือนเม.ย. สะท้อนความต้องการสินค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศที่ลดลง ซึ่งได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

Too Early to Take Profit on China Stock Rally
ตลาดหุ้นจีน (HSI Index) ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงกว่า 8% ภายใน 1 เดือน เนื่องด้วยถูกกดดันจากสงครามการค้าจีน และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวออกไปยังภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป และแคนาดา เป็นต้น โดยประเมินว่าในระยะสั้นจะยังคงกดดันการผลิตของจีน อ้างอิงจาก Arch Lumpini ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2024 และล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภค CPI ที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.3%YoY อย่างไรก็ตามทางเราประเมินว่าตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในระยะยาว

ภาวะเงินฝืดจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายลง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ โดยตะกร้าเงินเฟ้อของจีนมีส่วนประกอบหลักคือกลุ่มอาหาร 31% และกลุ่มที่อยู่อาศัย 17% ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค. ที่ลดลงจากราคาอาหารที่ลดลง 2% และราคาบ้านลดลงที่ปรับตัวลงมา 0.6%MoM ในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ตามจาก Figure 6.2 พบว่ายอดขายบ้านใหม่มีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวในบางพื้นที่ จึงประเมินว่าผลของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ฟื้นตัว

อีกทั้งภาคการผลิตมีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น จากการส่งออกที่ขยายตัวได้ 7.5%YoY ในเดือน เม.ย. สูงกว่าคาด และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 5%YoY อีกทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) มีแนวโน้มติดลบลดลง โดย PPI ในเดือน พ.ค. หดตัวลง 1.4%YoY เมื่อเทียบกับ หดตัว 2.5%YoY ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 6.7%YoY สูงกว่าที่เพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค. และดัชนี PMI ภาคการผลิต จาก Caixin ออกมาอยู่ในโซนขยายตัว ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เดือน
บ่งชี้ภาคการผลิตจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ เป็นปัจจัยหนุนการจ้างงานในประเทศ ซึ่งอัตราว่างงานในเดือน เม.ย. ลดลง อยู่ในระดับ 5% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ พ.ย. 2023

ด้วยเหตุนี้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีนเดือน มี.ค. ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 89.4 จุด โดยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อเศรษฐกิจจีนทรงตัวจากช่วงเกิดโรคระบาด และการจัดระเบียบใหม่ของจีน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้บริโภคในประเทศจับจ่ายใช้สอยน้อยลง และนำเงินไปฝากธนาคารมากขึ้น โดยจาก Figure 6.1 อัตราการออมพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2020 จนถึง 2023 จะเห็นว่าเงินออมใหม่สะสม คิดเป็น 56 ล้านล้านหยวน ซึ่งมากกว่ายอดค้าปลีก (Retail Sale) 47 ล้านล้านหยวน บ่งชี้ว่าผู้บริโภคภายในประเทศจีนมีกำลังซื้อ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ การบริโภคในประเทศจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เมื่อพิจารณาจาก Forward PE ของดัชนี HSI ที่อยู่ในระดับ 8.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ -1SD จึงประเมินว่าด้วย Valuation ที่ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นประเมินว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการกีดกันการค้าจะยังคงกดดันเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งเป็นเหตุให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาต่ำกว่าคาด แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสี จิ้นผิง จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ดังนั้นจึงแนะนำให้ Buy on Dip ในหุ้นจีน

Weekly Report 17-06-2024

Announcement on 17 June 2024

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง