Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 15-04-2024

Wealth Weekly Report 15-04-2024
 

Walking on Sunshine
  • ด้วยภาพเศรษฐกิจไตรมาส 1/2024 ที่แข็งแกร่ง และตลาดคาดหวังอัตราเติบโตของผลประกอบการบริษัทฯ S&P 500 ที่ 3% ใกล้เคียงกับการประมาณการ GDP ทางเราจึงมองว่าเป็นไปได้และเป็นโอกาสให้ตลาดจะฟื้นตัวจนถึงช่วงใกล้ประชุม FOMC เดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนที่สนใจหุ้นเติบโตในสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดหวังที่เกิดการเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ย จนทำให้เกิดการปรับฐานของกลุ่มเติบโต โดยทางเราแนะนำซื้อเมื่อปรับฐานในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหุ้นคุณค่าที่รายได้เติบโตและมีแรงหนุนจากปัจจัยเฉพาะตัว  
  • ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 2,300 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยได้แรงหนุนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงดอกเบี้ยระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่ากับอัตราของเดือนก.พ. และตัวเลขค่าจ้างแรงงาน ซึ่งวัดจากตัว Average Hourly Earning เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ทางเราประเมินว่าทองคำยังคงมีปัจจัยที่หนุนให้ราคาสามารถปรับตัวขึ้นไปทดสอบระดับ 2,500 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในสิ้นปีนี้
  • ตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้นจากราคาพลังงานปรับตัวอยู่ในระดับสูง และความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในประเทศ อีกทั้งในระยะยาวโครงการผลิตสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าของแร่นิกเกิล ในการผลิตรถยนต์ EV และการย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองนูซันตารา ซึ่งจะส่งผลต่อดีต่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานในหลากหลายอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมีปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ดังนั้นจึงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นอินโดนีเซีย เพื่อรับการเติบโตในอนาคต

TOPIC FOCUS

Q1 Earnings Season Poised to Fuel Stock Rally?
เข้าสู่ฤดูกาลประกาศงบไตรมาสที่ 1 ของปี 2024 ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ หรือปรับฐาน ทั้งนี้หากมองตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี การปรับขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดจากความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) 3 ครั้งในปีนี้ และอีกปัจจัยจากการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนขึ้นทั้งในดัชนี S&P500 และ NASDAQ

ทาง LH Bank Advisory พิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจเพื่อบ่งบอกแนวโน้มอัตราการเติบโตของรายได้บริษัทฯ ไว้ดังนี้

  • ประมาณการ GDP ของไตรมาสที่ 1 จาก GDP Now วันที่ 10 เม.ย. พบว่า GDP ไตรมาส 1/24 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ลดลงจากร้อยละ 2.5 ที่ประเมินไว้วันที่ 4 เม.ย. และลดลงจากรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/23 ที่ร้อยละ 3.4% เป็นผลจากรายงาน US Census Bureau พบว่า การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่แท้จริงของไตรมาสแรกที่ลดลงจากร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 2.9 ขณะที่ถูกชดเชยเล็กน้อยด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ตามทางเราประเมินว่า ภาพแรงงานสหรัฐฯ ที่ขยายตัว แสดงจากรายงานจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payroll) 303,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าประมาณการและเติบโตกว่าเดือนก่อน เป็นปัจจัยส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง และสร้างอานิสงส์ให้ยอดขายสินค้าให้ยังคงขยายตัวได้ 
  • สัดส่วนของสินค้าคงคลังต่อยอดขาย (Retail Inventories/Sales Ratio) มีโอกาสขยายตัวในไตรมาสแรก เพราะสัดส่วนดังกล่าวในเดือน ม.ค. รายงานที่ 1.33x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ 1.48x ทั้งนี้ทางเราได้พิจารณาไปที่กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า เป็นความขาดแคลนของสินค้าคงคลังในกลุ่มของรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ยังผลิตต่ำกว่าคาด ส่งผลเชิงบวกแก่ภาคการผลิต และส่งผลให้ประมาณรายได้กลุ่มดังกล่าวสูงขึ้น รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นชิ้นส่วนหลักของกลุ่มนี้อีกด้วย ทั้งนี้กลุ่มเซมิฯ คาดว่าได้ประโยชน์จากแผนของรัฐบาลไบเดนที่จะให้เงินทุนบริษัทผลิตชิปยังคงถูกสานต่อ เพื่อผลักดันให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านการผลิตเซมิฯ

ดังนั้นภาพรวมไตรมาส 1 ตลาดประเมินอัตราการเติบโตของผลประกอบการบริษัทฯ S&P 500 ที่ 3% ใกล้เคียงกับประมาณการ GDP ทางเราจึงมองว่าเป็นไปได้ โดยมีกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ Magnificent 7 เป็นกลุ่มขับเคลื่อนหลัก ซึ่งถ้าแยกออกมาจาก S&P 500 ทำให้อัตราเติบโตกำไร S&P 500 ติดลบ 4% อย่างไรก็ตามประมาณการกำไร S&P 500 ปีนี้ เติบโต 10-12% ทางเราประเมินว่าต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่สนับสนุน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เกิดภาวะถดถอย และรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ชนะเลือกตั้งยังดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงานต่อเนื่อง 2. เงินเฟ้อสูงขึ้นแต่ไม่พุ่งแรงขึ้นจนเหนืออัตราดอกเบี้ยนโยบายจนเป็นเหตุกดดันให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 3. Refinance ของบริษัทฯ ในครึ่งปีหลังเริ่มเผชิญต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งคาดว่า มีโอกาสเห็นการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นแต่เสียหายในวงจำกัด ทั้งนี้ผลของสามสถานการณ์อาจจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยในปีนี้ และเพิ่มปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวน เพราะผิดจากที่ตลาดคาดหวังไว้ตอนต้นปี ทางเราจึงแนะนำนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เน้นกลุ่มหุ้นคุณค่าที่มีความผันผวนต่ำ ขณะที่นักลงทุนที่สนใจหุ้นเติบโต เพื่อคาดหวังผลตอบแทนระยะยาว แนะนำเลือกลงทุนในกลุ่มเซมิฯ ซึ่งเป็นหุ้นคุณค่า ที่มีแนวโน้มรายได้เติบโต และมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง

TOPIC FOCUS

Gold price on US rate cut hopes
ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 2,300 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือให้ผลตอบแทนที่ 13% ตั้งแต่ต้นปี อ้างอิงจากบทความ Arch Lumpini ฉบับที่ 6 พ.ย. 23 หัวข้อ Gold Supercycle ซึ่งทองคำได้แรงหนุนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยของ JPMorgan Chase & Co. ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายราคาทองคำสำหรับสิ้นปี 2024 เป็น 2,500 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าทองคำยังคงมีปัจจัยที่หนุนให้ราคาสามารถปรับตัวขึ้นไปต่อได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักๆ คือ

  • ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงทางด้านสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังยูเครนส่งโดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซีย และความขัดแย้งในตะวันออกกลางบานปลาย หลังจากอิสราเอลโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านในซิเรีย ส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)
  • แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 3.5%YoY เร่งตัวขึ้นจาก 3.2% ในเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ทรงตัวที่ 3.8% เท่ากับอัตราของเดือนก.พ. และแม้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะแข็งแกร่งกว่าคาด แต่ตัวเลขค่าจ้างแรงงาน ซึ่งวัดจากตัว Average Hourly Earning เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ซึ่งจะช่วยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในครึ่งหลังของปี จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำสูงขึ้นได้
  • ความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำโลกและ Real Yield มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามสูง โดย Real Yield หรืออัตราผลตอบแทนที่แท้จริงคำนวณมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ลบกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ดังนั้นเมื่อเฟดลดดอกเบี้ยและ Real Yield ลดลง จะเป็นตัวขับเคลื่อนราคาทองคำ ซึ่งการลดดอกเบี้ยของเฟดในอดีตที่ผ่านมาในช่วงปี 2007-2008 และปี 2019-2020 พบว่า Gold ETF จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งก่อนและหลังการลดดอกเบี้ยครั้งแรกเฉลี่ยที่ 9.5% และ 8.5% ตามลำดับ
  • จากข้อมูลที่รวบรวมโดย World Gold Council แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางยังคงเพิ่มการถือครองทองคำอย่างต่อเนื่องจากกระแส De-dollarization หรือการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงหันมาถือทองคำในเงินทุนสำรองมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำแล้ว 64 ตัน ถึงแม้ว่าจะลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เป็น 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2022

ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าด้วยปัจจัยหนุนข้างต้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ราคาทองคำในปีนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทดสอบระดับ 2,500 ดอลลาร์/ออนซ์ ทั้งนี้ หากต้องถือทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยง แนะนำลงทุนไม่เกิน 10-15% ของพอร์ตการลงทุน

TOPIC FOCUS

Spotlight on Indonesia
ภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง โดยปราโบโว ซูเบียนโต ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมี ยิบราน รากาบูมิง ที่เป็นบุตรชายคนโตของอดีตประธานาธิบดี โจโก วีโดโด หรือ โจโกวี มาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี จึงทำให้ทางเราประเมินว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลของ โจโกวี ส่งผลให้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยมี Fund Flow จากต่างประเทศเริ่มไหลเข้ามา จึงประเมินว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีปัจจัยสนับสนุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวดังนี้

  • อินโดนีเซียจะเป็นแหล่งผลิตและส่งออกอุปกรณ์เกี่ยวกับ EV ที่สำคัญ จากความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น นอกจากอินโดนีเซียจะมีแหล่งแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก ทั้งนี้ทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้แปรรูปแร่ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของแร่ที่ขุดได้ และยังมีแนวโน้มของการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น หลักฐานจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศราว 1.7 แสนล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน บ่งชี้อุตสาหกรรมในอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นในอนาคต  
  • รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมแผนการย้ายเมืองหลวง จากจาการ์ตาไปยังนูซันตารา เนื่องจากจาการ์ตามีภูมิประเทศเป็นเกาะค่อนข้างเล็ก ในขณะที่ประชากรกว่า 70% ของประเทศอาศัยอยู่ในเมืองนี้ ส่งผลต่อการจราจรค่อนข้างหนาแน่น อีกทั้งพบว่าเมืองเริ่มทรุดตัวลงกว่าระดับน้ำทะเล จึงเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของประเทศ ดังนั้นทางรัฐบาลจึงมีแผนการย้ายเมืองหลวงไปยังจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก โดยตั้งชื่อว่านูซันตารา ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซียและบรูไน ประกอบกับมีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมถึงมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้คาดการณ์ GDP per Capita เพิ่มขึ้น 42% จาก 5,108 ดอลลาร์ต่อคนในปี 2023 เป็น 7,228 ดอลลาร์ต่อคน ในปี 2028 ดังนั้นในระยะยาวเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะได้แรงหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น
  • ในระยะสั้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดยจะช่วยกระตุ้นภาคการผลิตและการบริการ รวมถึง SME ต่างๆ ให้มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 6.00% คาดว่าจะปรับลดลง 0.75% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. 24 อยู่ที่ระดับ 3.05%YoY ซึ่งอยู่ในระดับกรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง
  • อีกทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนกลุ่มพลังงานให้เติบโตขึ้นไปได้ เนื่องด้วยประเทศอินโดนีเซียเป็นแหล่งในการขุดเจาะพลังงานและถ่านหิน รวมถึงส่งออกกลุ่มนี้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ อีกทั้งใน Market Capital ของตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีกลุ่มพลังงานราว 20% ทางเราจึงประเมินว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีโอกาสปรับตัวขึ้นในระยะสั้น
อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากธุรกิจใหม่อย่างการทำเหมืองนิกเกิลจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการย้ายเมืองหลวงนั้นเป็นแผนการในระยะยาว ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็น Emerging Market จึงอาจมีความผันผวนในระยะสั้น ดังนั้นทาง LH Bank Advisory จึงแนะนำทยอยสะสมหุ้นอินโดนีเซีย

Weekly Report 15-04-2024

Announcement on 15 April 2024

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง