Feel like Goldilocks จากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานเสวนาของ IMF ในวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา สะท้อนว่าเฟดยังไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงมากพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่ และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นต่อไปเพื่อจะฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่เฟดจะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการใช้นโยบายที่เข้มงวดมากเกินไป ซึ่งบ่งชี้ว่านโยบายการเงินในระยะต่อไปจะ “ทรง” กับ “ขึ้น” ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด (Higher for longer) อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อ Core CPI ในเดือนต.ค. อยู่ที่ 4%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 4.1%YoY และ Headline CPI อยู่ที่ 3.2%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.3%YoY ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ประกอบกับนักวิเคราะห์ในตลาด (Bloomberg Consensus) คาดว่าดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ในปี 2024 จะชะลอลงสู่ระดับ 2.7% โดย Core PCE ในเดือนก.ย. อยู่ที่ระดับ 3.7% ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อหมวดที่พักอาศัย (Housing) จะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่มีสัญญาณที่ชะลอลงสู่ระดับ 7.2% ในเดือนก.ย. เทียบกับระดับสูงสุดที่ 8.3% ในเดือนเม.ย.ของปีนี้ โดยอุปทานของอพาร์ทเม้นต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะกดดันให้อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) และค่าเช่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงในที่สุด หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไม่บานปลายไปสู่สงครามในภูมิภาค (Regional War) หรือหากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ไม่ได้ส่งผลให้การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) กลับมาสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้ออีกครั้ง ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อจะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง (Disinflation) ซึ่งจากความล่าช้า (lag time) ของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ส่งผลให้เงินเฟ้อที่มาจากภาคบริการ โดยเฉพาะในภาคที่อยู่อาศัย จะเริ่มเห็นผลในช่วงกลางปี 2024 ทั้งนี้ เรายังไม่ตัดความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง เนื่องจากเฟดต้องรอดูผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจเพื่อให้แน่ใจว่าเงินเฟ้อลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะ Goldilocks คือภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ชะลอตัวจนเกินไปจนมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือไม่ร้อนแรงจนเกินไปจนมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ดังนั้น ในระยะสั้นนักลงทุนสามารถเลือกภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) โดยปรับพอร์ตมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้น ซึ่งจาก Bloomberg Consensus คาดกำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนี S&P500 ปี 2024 จะเติบโต 11.6% คิดเป็น Forward P/E ratio ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 20.7 เท่า ซึ่งใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ระดับ 20.5 เท่า ทั้งนี้ แนะนำให้ใช้จังหวะที่ตลาดปรับตัวขึ้น Let profit run และหาจังหวะปรับลดน้ำหนักการลงทุน เมื่อดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดเดิมในเดือนม.ค. 2022 บริเวณ 4,800 จุด
Supply Labor Shortage implies Strong in Labor Market? ทางสหรัฐฯ ได้เปิดเผยตัวเลขตำแหน่งงานว่าง (JOLTs) ออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และสูงกว่าจำนวนผู้ว่างงานนั้น เป็นเหตุให้ตลาดมองว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้าว่ายังมีแนวโน้มในการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นักลงทุนในตลาดต่างมองว่าการเกิด Soft Landing มีความเป็นไปได้สูง แต่ภายใต้บริบทของโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน LH Bank Advisory กลับมองประเด็นเรื่องความแข็งแกร่งในตลาดแรงงานแตกต่างออกไปซึ่งทำให้บทสรุปอาจไม่ได้ออกมาสดใสดังที่ตลาดคาดการณ์ เมื่อตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLTs) นั้นแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของฝั่งผู้ประกอบการที่ยังมีความต้องการขยายธุรกิจ แต่ต้องอย่าลืมว่า Productivity จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตำแหน่งงานที่เปิดนั้นสามารถจับคู่กับการจ้างงานได้สำเร็จ แต่ปัจจุบันการจับคู่งานดูจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เนื่องจากหากย้อนดูที่ตัวเลขอัตราการเข้าร่วมตลาดแรงงานของสหรัฐฯ (Labor Force Participation Rate) ในปัจจุบันที่ระดับ 62.7% ปรับตัวลดลงจากระดับก่อน Covid-19 ในปี 2020 ที่อยู่ระดับ 63.3% หรือแรงงานกว่า 1.7 ล้านคนหายออกจากระบบไปในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา LH Bank Advisory แยกอุตสาหกรรมในตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLTs) ที่ 9.5 ล้านตำแหน่ง และพบปัญหาใน 2 กลุ่ม 1. งานในกลุ่มอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ที่มีการเปิดตำแหน่งกว่า 2 ล้านตำแหน่ง ที่เป็นกลุ่มงานที่คนสหรัฐฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมงานน้อยที่สุด และ 2. งานในกลุ่มที่เป็นที่สนใจของตลาดแรงงานสหรัฐฯ เช่น Professional and Business Services และ Health Care and Social Assistance ที่มีการเปิดตำแหน่งงานกว่า 3.3 ล้านตำแหน่ง ก็ล้วนเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้คุณวุฒิและใบอนุญาต และเมื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ว่างงาน พบว่ามีเพียง 2.4 ล้านคนที่จบการศึกษาสูงกว่าอนุปริญญา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังคงมีตำแหน่งงานว่างอีกประมาณ 1 ล้านตำแหน่งที่ตลาดจะไม่สามารถเติมเต็มได้เนื่องจากภาวะขาดแคลนกำลังแรงงาน และการปรับเพิ่มค่าจ้างเพื่อแย่งกำลังแรงงานจะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2024 ค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นแต่การขยายตัวของเศรษฐกิจจะไปเป็นอย่างจำกัด คือสิ่งที่เราประเมินภายใต้สถานการณ์ของการขาดแคลนแรงงานดังเช่นที่เราเผชิญในปัจจุบัน แม้ผลกระทบดังกล่าวอาจยังไม่รุนแรงพอที่จะบ่งชี้ถึงการเกิด Recession ได้ในอนาคต แต่สิ่งที่คาดการณ์ได้อย่างแน่นอนคือการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงเวลาหลังจากนี้ ซึ่งมีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดการลงทุนในปีหน้า ดังนั้นการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและเพิ่มสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
7 Magnificent-How are they faring? ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถูกขับเคลื่อนด้วยหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม 7 Magnificent หรือกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 หุ้น โดยมูลค่าตลาด (Market capitalization) คิดเป็นน้ำหนัก 28% ของดัชนี S&P500 และสาเหตุที่นักลงทุนยอมจ่ายส่วนเกิน (Premium) กับ 7 magnificent ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าเกิดจาก 1. สภาพคล่องสูง เพราะตลาดเงินเผชิญกับความตึงตัวด้านสภาพคล่อง หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) อยู่ในระดับสูง 2. อัตราการเติบโตของรายได้ของกลุ่ม Magnificent ที่ผ่านมามีความแข็งแกร่ง และ 3. กระแสเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ด้วยปัจจัยนี้นักลงทุนมองว่าเป็นการจ่าย Premium ที่มีความยุติธรรม ซึ่งทางเราคาดว่า 7 Magnificent จะดึงดูดกระแสเงินลงทุนยาวนานจนถึงสิ้นปี 2023 แต่ทางเราเกิดคำถามว่า ในปี 2024 ว่ากลุ่มหุ้น 7 magnificent ยังคงสามารถรักษาความโดดเด่นนี้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ภาพรวมการลงทุนในปี 2024 ตลาดมีโอกาสที่จะผันผวน จากการปรับเปลี่ยนมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อ่อนไหวตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ประกาศในช่วงเวลานั้น ๆ แต่กระนั้นสำหรับนโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ยังมีอยู่และต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีหน้า ขณะที่โครงสร้างตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ทางเราเคยนำเสนอไปนั้น ได้บ่งชี้ว่า Bond Yield คงอยู่ในระดับสูงและยาวนาน เป็นเหตุให้สภาพคล่องในระบบยังคงตึงตัว และทำให้นักลงทุนยังคงสนใจ 7 magnificent ด้วยความโดดเด่นในเรื่องสภาพคล่องมากกว่าการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานและมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับ Bond Yield ขณะที่สถานการณ์ตลาดภายใต้สภาพคล่องที่ตึงตัว ทางเราแนะนำนักลงทุนต้องตระหนักถึงการคัดเลือกหุ้นที่มีมูลค่าดี และยังคงความสามารถทำกำไร ซึ่งทางเราเห็นถึงความเสี่ยงของหุ้น Tesla (NASDAQ:TSLA) ที่มีโอกาส Underperform กลุ่ม เพราะแนวโน้มกำไรในอนาคตเสี่ยงชะลอตัว ขณะที่มูลค่าของหุ้นกลายเป็นหุ้น หนึ่งในสามที่มีมูลค่าแพงสุดของกลุ่ม 7 Magnificent สะท้อนจาก Figure 5.1 ที่แนวโน้มของกำไรต่อหุ้นล่วงหน้า 12 เดือน ของ Tesla ปรับตัวสวนทางกลุ่ม Magnificent อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลประกอบการบริษัท Tesla ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมายอดขายกลุ่มรายได้หลักจากรถยนต์ EV แม้มีการผลิตและส่งมอบที่ขยายตัวได้ดี 18%YoY และ 27%YoY ตามลำดับ แต่กลับรายงานกำไรสุทธิที่ลดลงเหลือ 1,853 ล้านดอลลาร์ (-44%YoY) และกำไรต่อหุ้น (GAAP) เหลือเพียง 0.55 $/Shares ต่ำจากที่ตลาดคาด ทั้งนี้ Tesla กำลังเผชิญความเสี่ยงที่แนวโน้มกำไรจะชะลอการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยเพราะความสามารถในการทำกำไร (Profit Margin) ที่ลดลง หลังสงครามราคา EV ส่อแววรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ผลกระทบของดอกเบี้ยที่สูง กดดันให้อุปสงค์ผู้บริโภคชะลอตัว และการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มีความเข้มงวดขึ้น สำหรับกลยุทธ์กลุ่ม 7 Magnificent ในปี 2024 ทาง LH Bank Advisory แนะนำให้ระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากการประเมินเปรียบเทียบ Risk และ Return พบว่าด้วยราคากลุ่ม 7 Magnificent ขึ้นมามากแล้ว และพร้อมถูกขายทำกำไร เนื่องมูลค่าที่แพง หรือตลาดเกิดการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุน หรือกลุ่มหุ้น (Sector Rotation) ออกไปสู่กลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าน่าสนใจและมีแนวโน้มอัตราการเติบโตของกำไรได้ดีในอนาคต ดังนั้นทางเราจึงแนะนำใช้โอกาสนี้ลดสัดส่วนแบ่งขายทำกำไรบางส่วน ขณะที่อีกส่วนปล่อยราคาขึ้นไปตามกระแสการเก็งกำไร (Let Profit run) ก่อนเกิดการ Sector Rotation
Announcement on 20 November 2023