เมื่อเราพูดถึงเรื่องความเสี่ยงแล้ว คงไม่มีใครอยากให้ความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นกับตัวเราไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม โดยความเสี่ยงสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทที่เราต้องระวัง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเจ็บตัวจากอุบัติเหตุ เจ็บป่วยจากปัญหาสุขภาพ ความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เราสูญเสียรายได้ ฯลฯ
วิธีป้องกันที่ทุกคนต่างรู้และมักจะใช้กันเพื่อโอนย้ายความเสี่ยงออกจากตัวเราไปนั่นก็คือ การซื้อประกัน แต่รู้หรือไม่ว่า การซื้อประกันเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการบริหารความเสี่ยงเท่านั้น และที่สำคัญเลยก็คือ การโอนความเสี่ยงด้วยประกันอาจไม่ได้เหมาะกับความเสี่ยงทุกรูปแบบ
บทความนี้ เรามาทำความเข้าใจกันว่าความเสี่ยงมีกี่ประเภท และความเสี่ยงแต่ละประเภทควรจัดการด้วยวิธีใดบ้าง
1. ความเสี่ยงที่โอกาสเกิดน้อย ความเสียหายต่ำ
ความเสี่ยงแบบนี้อาจไม่ต้องคิดมาก เพราะโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ถึงแม้ความเสี่ยงเกิดขึ้นจริงก็ไม่สร้างความเสียหายกับเราสักเท่าไหร่ ดังนั้น การ “รับความเสี่ยง (Self-Insurance)” นี้ไว้เองก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
เช่น มีดทำครัวบาดหรือโดนน้ำร้อนลวกจากการทำอาหาร เป็นต้น
2. ความเสี่ยงที่โอกาสเกิดเยอะ ความเสียหายต่ำ
ความเสี่ยงประเภทนี้ ถึงแม้จะสร้างความเสียหายหรือผลกระทบไม่มาก แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยและอาจสร้างความรำคาญกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แล้วถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยจนสะสมเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นความเสียหายที่ไม่น้อยเช่นกัน การ “ควบคุมความเสี่ยง (Control)” จะช่วยให้เราลดโอกาสที่จะเกิดขึ้นและความเสียหายได้
เช่น การเล่นสเก็ตบอร์ดโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน เป็นต้น
3. ความเสี่ยงที่โอกาสเกิดน้อย ความเสียหายสูง
เป็นความเสี่ยงที่หลาย ๆ คนมักมองข้าม เพราะดูไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วความเสี่ยงประเภทนี้ เหมาะที่จะ “โอนย้ายความเสี่ยง (Transfer)” หรือทำประกันมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุขึ้น เราก็จะเสียค่าเบี้ยประกันอย่างสมเหตุสมผล ไม่แพงจนเกินไป แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา เราก็จะมีประกันคอยคุ้มครองความเสียหายหนัก ๆ เอาไว้
เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น
4. ความเสี่ยงที่โอกาสเกิดเยอะ ความเสียหายสูง
ความเสี่ยงแบบนี้เรียกได้ว่ามีความอันตรายสูง และเกิดความเสียหายหนัก การเลือกที่จะ “หลีกเลี่ยง (Avoid)” กิจกรรมที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงประเภทนี้จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และหากเลือกที่จะทำประกันก็อาจจะต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะเบี้ยประกันที่ป้องกันความเสี่ยงในประเภทนี้จะมีค่าเบี้ยที่สูงกว่าเบี้ยประกันประเภทอื่น ๆ
เช่น การปีนเขาสูง การเข้าในพื้นที่มีการจราจล หรือการขับรถด้วยความเร็วที่เกินกฎหมายกำหนด เป็นต้น
ความเสี่ยงนั้นมีหลากหลาย โดยที่แต่ละคนก็อยู่ในสภาพแวดล้อม อาชีพการงาน ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันออกไป จึงมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงและความเสียหายได้ไม่เท่ากัน
ดังนั้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำประกัน เราควรสำรวจและลองจัดหมวดหมู่ความเสี่ยงของตนเองว่าอยู่ในหมวดหมู่ไหน เราก็จะรู้ได้ทันทีว่าเราควรจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นด้วยวิธีการใด
เพราะทุกความเสี่ยงคงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ประกันเพื่อจัดการทั้งหมด แต่เราควรเลือกเฉพาะประเภทของความเสี่ยงที่จำเป็นเท่านั้น เราจะได้มีสภาพคล่องเหลือเพื่อนำไปใช้ในลงทุนเพื่อให้เงินเติบโตงอกเงยต่อไป
หมายเหตุ – สำหรับผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝากที่นำให้ใช้เป็นเครื่องมือช่วยการจัดการความเสี่ยงง่าย ๆ
เพียงแค่ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์โดยที่เราไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน ก็คือ
1. เงินฝากออมทรัพย์คุ้มครองชีวิต 1 เป็นบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วโลก 24 ชั่วโมง รับความคุ้มครอง 25 เท่าของยอดเงินฝากคงเหลือก่อนวันประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต 1 วัน (วงเงินคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท) ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันและไม่ต้องตรวจสุขภาพ เริ่มต้นฝากเงินขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท ยิ่งฝากมากก็ยิ่งคุ้มครองมาก
2. เงินฝากออมทรัพย์คุ้มครองชีวิต 2 เป็นบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วโลก 24 ชั่วโมง รับความคุ้มครอง 3 เท่าของยอดเงินฝากคงเหลือก่อนวันประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต 1 วัน (วงเงินคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท) ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันและไม่ต้องตรวจสุขภาพ เริ่มต้นฝากเงินขั้นต่ำเพียง 100,000 บาท ยิ่งฝากมากก็ยิ่งคุ้มครองมาก