ภาษีคาร์บอนใกล้มาถึง! คนไทยพร้อมรับมือหรือยัง?
 

Carbon-Tax_Head.png
หลายคนอาจจะเริ่มได้ยินข่าวเกี่ยวกับ "ภาษีคาร์บอน" (Carbon Tax) ที่รัฐบาลกำลังจะเริ่มเก็บในเร็วๆ นี้ กันบ้างแล้ว ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ งานแถลงข่าว "สรรพสามิต กรม ESG เปลี่ยนผ่านชุมชน และประเทศเดินหน้าสู่ Net Zero" ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้เสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันนโยบาย เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ โดยจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้ากลุ่มน้ำมันและ LPG เป็นกลุ่มแรก คาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2567

แล้วภาษีคาร์บอนคืออะไร ? ทำไมต้องเก็บ ?
ภาษีคาร์บอน คือ ภาษีที่เก็บจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การเก็บภาษีนี้เป็นเหมือนการ "ใส่ราคา" ให้กับมลพิษ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกเริ่มนำภาษีชนิดนี้มาใช้ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

อัตราภาษีคาร์บอนของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อตันคาร์บอน
ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ที่ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนไปก่อนหน้านี้

เราคำนวณภาษีคาร์บอนสำหรับน้ำมันแต่ละประเภทอย่างไร
การคำนวณนั้นง่ายมาก ตัวอย่างเช่น แก๊สโซฮอล์ E85 มีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 0.00034364 tonCO₂eq ซึ่งเมื่อนำมาคูณกับ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ก็จะได้ค่าอยู่ที่ 0.07 บาท หรือ 7 สตางค์

ตารางแสดงตัวอย่างการคำนวณภาษีคาร์บอน
Carbon-Tax1.png

แล้วคนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นไหม ?

ไม่ต้องกังวล! รัฐบาลยืนยันว่าภาษีคาร์บอนจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น เพราะในระยะแรกจะใช้วิธีการ "แปลงภาษี" โดยนำภาษีสรรพสามิตน้ำมันส่วนหนึ่งมาเป็นภาษีคาร์บอนแทน
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า ภาษีคาร์บอนจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในระยะแรก เนื่องจากในช่วงแรกจะใช้วิธีการ "แปลง" ภาษีสรรพสามิตน้ำมันส่วนหนึ่งมาเป็นภาษีคาร์บอน โดยไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชน โดยสามารถอธิบายโดยสรุปได้ดังนี้
• ปกติเติมน้ำมันดีเซล ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต 6.44 บาทต่อลิตร (อัตราสูงสุด)
• เมื่อภาษีคาร์บอนของน้ำมันดีเซลเท่ากับ 0.54 บาท ก็จะรวมภาษีคาร์บอน 0.54 บาท นี้ ไว้ใน 6.44 บาทนั้นเลย ดังนั้น ราคาน้ำมันก็จะไม่เปลี่ยนแปลง

เติมน้ำมันทีไร ก็รู้เลยว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่
กรมสรรพสามิตวางแผนจะร่วมมือกับผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน เพื่อแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากการเติมน้ำมันทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค
แล้วคนไทยได้อะไรจากภาษีคาร์บอน?
• ช่วยลดโลกร้อน
• ไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน (ถัดจากสิงคโปร์) ที่มีภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการแสดงถึง ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากล และสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก
• ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ในอนาคต สามารถนำภาษีคาร์บอนที่จ่ายในไทยไปลดหย่อนภาษีคาร์บอนที่ต้องจ่าย ณ ต่างประเทศได้ (CBAM)

ส่งออกไปยุโรป อเมริกา ก็หายห่วง!
สำหรับผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน เช่น สหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร (UK) สามารถนำภาษีคาร์บอนที่จ่ายในไทยไปใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือ กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน ได้อีกด้วย
แล้วเราควรเตรียมตัวอย่างไรดี?
• ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน
• ติดตามข่าวสารและนโยบายภาษีคาร์บอนอย่างสม่ำเสมอ
• ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ใช้รถยนต์น้อยลง ประหยัดพลังงาน


Carbon-Tax2.png
ภาษีคาร์บอนเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของไทยในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันบนเวทีโลก


แหล่งอ้างอิง
กรมสรรพสามิต. การจัดเก็บภาษีคาร์บอน, 2567. จาก. https://newweb.excise.go.th/carbon-tax

ประชาชาติธุรกิจ. สรรพสามิตชง ครม. เก็บภาษีคาร์บอนสินค้า “น้ำมัน” ยันไม่กระทบประชาชน-รายได้รัฐ, 2567.
จาก. https://www.prachachat.net/finance/news-1663906

Posttoday “ภาษีคาร์บอน” เพราะการปล่อยมลพิษมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย, 2567.
จาก. https://www.posttoday.com/smart-city/714113

สำนักข่าวอิศรา. ‘สรรพสามิต’ ชง ‘ครม.’ เก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ ชาติที่ 2 ในอาเซียน-ย้ำไม่กระทบราคาขายปลีกฯ, 2567.
จาก. https://www.isranews.org/article/isranews-news/132167-mof-Carbon-Tax-news.html


หมายเหตุ
บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์ของข้อมูลเพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ผู้ใช้ข้อมูลควรใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเอง และรับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลในบทความนี้ ดังนั้น ข้อมูลในบทความนี้จึงไม่ถือเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจแต่อย่างใด
LHB-GAFE.png
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง