ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 24-06-2024

Wealth Weekly Report 24-06-2024
 

CAUTIOUS OPTIMISM
  • อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ Fed ต่อไป เนื่องจากกลุ่ม Shelter ที่ยังเพิ่มขึ้นในระดับ 5.3% โดยสาเหตุหลักมาจากค่าเช่าที่มากขึ้น เมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 30 ปี ที่อยู่ในระดับ 6.94% แม้จะปรับลดลงแล้ว แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประชาชนสหรัฐฯ หันมาเช่าบ้านกันมากขึ้น ในขณะที่ยอดขายบ้านใหม่และการสร้างบ้านใหม่เริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้ค่าเช่าบ้านเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับค่าจ้างที่เติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่ายอดค้าปลีกที่ชะลอตัวลง และการจ้างงานที่เริ่มอ่อนแอ ส่งสัญญาณถึงความอ่อนแอในด้านผู้บริโภค สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง
  • คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน เป็นอัตราส่วนเพิ่มสูงถึง 38.1% จากภาษีอัตราเดิม 10% ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่ามาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าว ส่งผลกระทบที่จำกัดต่อ GDP ของจีน เนื่องจากการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนในยุโรปมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อรถยนต์แบรนด์ยุโรปที่ส่งออกไปจีน หากจีนใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ และการตอบโต้อาจมุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย โดยมาตรการดังกล่าวเร่งให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนย้ายฐานการผลิตไปยุโรปมากขึ้นและจีนยังคงมีโอกาสขยายการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าไปยังตลาดใหม่ ๆ อีกมาก
  • ตั้งแต่ปี 2020 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สร้างผลตอบแทนเหนือกว่า MSCI EM Asia มากกว่า 120 เท่า และยังคงทำ New high ต่อเนื่องจนมีมูลค่าตลาดเข้าสู่โซนแพง สวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ทางเราเริ่มเห็นโอกาส MSCI EM Asia ให้โดดเด่น จากอานิสงส์ของการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสเข้าสู่ช่วงอ่อนค่าลง หลังจาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเมื่อพิจารณาด้านมูลค่า P/E พบว่า หุ้นในตลาดเกิดใหม่มีมูลค่าอยู่ในระดับน่าสนใจ ทางเราจึงแนะนำแบ่งขายทำกำไรหุ้นสหรัฐฯ ทยอยเข้าสะสมหุ้นใน MSCI EM Asia เมื่อพักฐาน

TOPIC FOCUS

Sticky inflation amid consumers’ sentiment slips

ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 24 เพิ่มขึ้นเพียง  3.3%YoY ซึ่งชะลอตัวลง 2 เดือนติดต่อกัน และดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 24 เพิ่มขึ้น 3.4%YoY ซึ่งชะลอตัวลง 21 เดือนติดต่อกัน แต่ยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของ Fed ที่ 2% YoY โดยได้รับแรงหนุนจากกลุ่ม Shelter ที่ยังคงขยายตัว 5.39%YoY และมีสัดส่วนในตะกร้าคำนวณเงินเฟ้อถึง 35% ของทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวม Shelter เพิ่มขึ้นเพียง 2.1%YoY บ่งชี้ว่ากลุ่ม Shelter ยังเป็นกลุ่มหลักที่ดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทางเราจึงพิจารณาว่าอัตราเงินเฟ้อในกลุ่ม Shelter จะอยู่ในระดับสูงต่อไปด้วยปัจจัยต่อไปนี้

  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันความต้องการขอสินเชื่อที่อยู่ศัยในสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยระยะ 30 ปี (MBA 30-Year Mortgage Rate) ที่อยู่ในระดับ 6.94% ในขณะนี้ ซึ่งชะลอลงจากระดับ 7.90% ในเดือนต.ค. 23 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจาก Figure 1.1 จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 และประเมินว่าผ่าน Peak Rate ไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวลง ทำให้ผู้ที่ต้องการกู้ซื้อบ้านชะลอการซื้อออกไปก่อน จากหลักฐานจากตัวเลขยื่นขอสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น 2%WoW แต่ต่ำกว่าสัปดาห์เดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมาถึง 12%YoY จึงมองว่าการกู้ซื้อบ้านยังคงชะลอตัวลง ในทางเดียวกันเมื่อยอดขายบ้านชะลอตัวลง ส่งผลให้อุปทานบ้านในการนำมาปล่อยเช่าจะมีเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นทางเราประเมินว่าในด้านอุปทานที่อยู่อาศัยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ค่าเช่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 5% ต่อไป
  • ในทางเดียวกันราคาบ้านเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงช่วงก่อนเกิด Covid-19 บ่งชี้ว่าราคาบ้าน ณ ปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ได้ถูก โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าช่วงปี 2023 เนื่องจากการสร้างบ้านใหม่ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนผ่านบ้านค้างสต๊อก อยู่ในระดับ 3.2 หลังต่อคน ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ New Home Sales และ Existing Home Sales มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน 
  • การเติบโตของค่าจ้าง จะส่งผลให้เงินเฟ้อจาก Shelter ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป เมื่อพิจารณาจาก Figure 2.1 พบว่าการเติบโตของรายได้เฉลี่ยรายชั่วโมง เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งรายได้เฉลี่ยรายชั่วโมงในเดือน พ.ค. ที่ปรับตัวย่อลงมาอยู่ในระดับ 4.1% โดยเป็นผลมาจากตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ที่ลดลงกว่า 8.1 ล้านตำแหน่ง ในเดือน เม.ย. แต่ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิด Covid-19 บ่งชี้ว่าค่าจ้างที่อยู่ในระดับสูงเป็นแรงหนุนให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อไป 

อย่างไรก็ตามจากอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4% เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้ Retail Sale เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.1%MoM สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มอ่อนแอ จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกน เดือน มิ.ย. ลดลงอยู่ในระดับ 65.6 จาก 69.1 จึงประเมินว่าค่าเช่าบ้านจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันกำลังการบริโภคเริ่มอ่อนแอ สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว จึงแนะนำให้ลดสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ

Unwinnable game in EV war

หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีน 4 เท่าจาก 25% เป็น 100% รวมถึงแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขึ้นภาษีจากเดิม 7.5% เป็น 25% ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน เป็นอัตราส่วนเพิ่มจากภาษีอัตราเดิม 10% ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.ค. 2024 โดยอัตราส่วนเพิ่มจะแตกต่างกันไปตามบริษัท ขึ้นกับความร่วมมือในการสอบสวนการจ่ายเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีนของแต่ละบริษัท : 17.4% สำหรับ BYD, 20% สำหรับ Geely ซึ่งถือหุ้นใน Volvo, 38.1% สำหรับ SAIC Motor เจ้าของแบรนด์ MG และ 21% สำหรับผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว ดังนี้

  • รถยนต์แบรนด์จีนมีสัดส่วนเพียง 7.9% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของยุโรปในปี 2023 ขณะที่ 19.5% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในสหภาพยุโรปนั้นผลิตในจีนในปี 2023 ซึ่งแบรนด์ยุโรปที่ไปตั้งโรงงานในจีนแล้วจำหน่ายในยุโรปจะได้รับผลกระทบด้วย โดยผู้ผลิตรถยนต์ที่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน รวมถึง Tesla และแบรนด์ของยุโรปที่ผลิตในจีนจะถูกเก็บภาษีนำเข้าส่วนเพิ่มในอัตรา 21% สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มุ่งเป้าเพื่อลดการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเท่านั้น แต่เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ย้ายฐานการผลิตกลับสู่ยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 
  • ราคาหุ้น BYD ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 8% ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง หลังยุโรปประกาศแผนขึ้นภาษีดังกล่าว เนื่องจาก BYD ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งจากอัตราภาษีส่วนเพิ่มสำหรับ BYD ที่ต่ำกว่าผู้ผลิตรายอื่น และจากสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งออกไปยุโรปไม่ถึง 1% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ประกอบกับ BYD กำลังตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกในยุโรปที่ฮังการีและอยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ในยุโรป และรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนมีราคาเฉลี่ยในยุโรปสูงกว่าในจีนประมาณสองเท่า ส่งผลให้ผู้ผลิตยังมีช่องทางในการรับมือกับอัตราภาษีใหม่
  • ขณะที่ราคาหุ้นรถยนต์ค่ายยุโรปปรับตัวลง จากความกังวลว่าจีนอาจจะใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ ซึ่งตลาดรถยนต์จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของ Volkswagen ค่ายผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมนี โดยคิดเป็นประมาณ 50% ของยอดขายทั่วโลกของ Volkswagen  ทั้งนี้จีนเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ 15% และอยู่ในระหว่างพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่สูงถึง 25%

ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่ามาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าว ส่งผลกระทบที่จำกัดต่อ GDP ของจีน เนื่องจากการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนในยุโรปมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อรถยนต์แบรนด์ยุโรปที่ส่งออกไปจีน หากจีนใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ และการตอบโต้อาจมุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า, แบตตารี่ และโซล่าร์เซล มีสัดส่วนคิดเป็น 4.2% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมาตรการดังกล่าวเร่งให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนย้ายฐานการผลิตไปยุโรปมากขึ้นและจีนยังคงมีโอกาสขยายการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าไปยังตลาดใหม่ ๆ อีกมาก

Is it time to take some US gains and rebalance into the Asia EM? (Part I)

LH Bank Advisory เกิดคำถามถึงโอกาสลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ (EM) ว่ามีความน่าสนใจหรือยัง หลังจากช่วงการกลับมาเปิดประเทศในปี 2020 จนถึงปัจจุบัน S&P 500 สร้างผลตอบแทนเหนือกว่า MSCI EM Asia มากกว่า 120 เท่า และยังคงทำ New high ต่อเนื่องจนมีมูลค่าตลาดเข้าสู่โซนแพง สวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ทางเราเริ่มมองหาการลงทุนMSCI EM Asia เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงถัดจากนี้ข้างหน้า ซึ่งทางเรามองเห็นโอกาสที่ MSCI EM Asia ให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ คล้ายช่วงปี 2002-2007 ซึ่งเป็นช่วงที่ MSCI EM Asia สร้างผลตอบแทนเหนือตลาดหุ้นสหรัฐฯ กว่า 280 เท่า เช่นกัน โดยมีเหตุผลดังนี้

เหตุผลแรก : ทางเรามองเป็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม MSCI EM Asia ที่เน้นการลงทุนในประเทศอินเดีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการส่งออกที่ขยายตัว ผลักให้ประมาณการ GDP ของ EM Asia ปี 2024 ที่ 5.2% กับปี 2025 ที่ 4.9% อันเป็นผลมาจากการลดความเสี่ยงในการพึ่งพาจีนประเทศเดียว (De-risk) และในเวลานี้ยังมีมาตรการกีดกันทางการค้า อย่างเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามาจากจีนสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งจากสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะ สินค้าเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ และ รถยนต์ EV ที่ผลลัพธ์จากมาตรการดังกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์จะส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าปรับสูงขึ้นเพราะบริษัทสูญเสียการผลิตที่มีต้นทุนต่ำไป แต่ด้วยมาตรการนี้มุ่งหวังผลทางการเมือง เพราะผลต่อคะแนนนิยมผู้สมัครให้โดดเด่นขึ้นมา จึงทำให้ไม่ว่าผลเลือกตั้งใครเป็นประธานาธิบดีย่อมเห็นสงครามการค้ากับจีนที่ยืดเยื้อ ขณะเดียวกันทั้งสหรัฐฯ และยุโรปเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคอันดับต้นของโลก จึงเป็นเหตุให้บรรดาบริษัทฯ ยังเน้นกระจายฐานผลิตสินค้าออกจากจีน ไปตั้งฐานการผลิตใน EM Asia ที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเช่นกัน

เหตุผลที่สอง : จากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ระดับ Peak rate เตรียมรอเข้าสู่ช่วงขาลง เพราะหลังจากเศรษฐกิจในภาวะ Stagflation ทำให้เราได้เห็นการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กำลังมีแนวโน้มจะเปลี่ยนทิศทาง โดยทางเราประเมินจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ และแนวโน้มอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ได้ผลักให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และ Fed ต้องใช้มาตรการผ่อนคลายการเงิน รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามมา จนเป็นเหตุให้ค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสเข้าสู่ช่วงอ่อนค่า พร้อมกับส่งผลให้ค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีเสถียรภาพมากขึ้น และเอื้อให้เงินทุนไหลกลับเข้าสินทรัพย์ของประเทศที่มีผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับสูงมีการจัดการหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมให้อยู่ในระดับต่ำ โดยรายงาน IMF ปี 2022 พบว่า อินเดีย มีมูลค่าหนี้คิดเป็น 83% ของ GDP และมีทิศทางที่กำลังปรับลดลงจากนโยบายของรัฐบาลโมดี สมัยที่ 3 ที่ปรับลดการขาดดุลการคลัง ขณะที่ในภาพรวมหนี้ต่อ GDP ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ต่ำกว่าหนี้ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 

ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานของ MSCI EM Asia ที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มการมีเสถียรภาพค่าเงินสกุลท้องถิ่นของตลาดเกิดใหม่ ทำให้การลงทุนในตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจแล้วนั้น หากพิจารณาด้านมูลค่า P/E ยังพบว่าหุ้นในตลาดเกิดใหม่มีมูลค่าอยู่ในระดับน่าสนใจกว่า ทางเราจึงแนะนำแบ่งขายทำกำไรจากการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ทยอยเข้าสะสมหุ้นใน MSCI EM Asia เมื่อพักฐาน

Weekly Report 24-06-2024

ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2567

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง