ลูกค้าบุคคล > LH Bank Advisory > คู่คิดการเงิน > หลักการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง คืออะไร ?

หลักการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง คืออะไร ?
 


เมื่อเริ่มเห็นความสำคัญและเข้าใจถึงหลักการวางแผนการเงิน หลายคนอาจมีข้อสงสัยและไม่แน่ใจอยู่บ้างว่า เราควรเริ่มต้นที่จุดไหนหรือมีกระบวนการวางแผนการเงินอย่างไรถึงจะเหมาะสม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่าจะมีความสำคัญเท่า ๆ กัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารเงินสด การลงทุน การบริหารหนี้สิน แถมยังมีการโอนย้ายความเสี่ยงอีก จนไม่รู้ว่าสิ่งใดควรทำก่อน-หลัง บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจถึงลำดับความสำคัญของการวางแผนการเงินในแต่ละรูปแบบว่า จะต้องจัดการอย่างไรให้แผนการเงินนั้นถูกต้องและเหมาะสม

สามเหลี่ยมการเงิน คือ พื้นฐานการวางแผนระดับสากล

สำหรับใครที่เริ่มมีเงินเก็บและอยากเริ่มต้นวางแผนการเงิน แนะนำให้เริ่มต้นจากสามเหลี่ยมนี้ โดยเริ่มจากฐานล่างขึ้นด้านบนได้ทันที ซึ่งสามเหลี่ยมการเงินนี้จะเป็นการลำดับความสำคัญด้านการเงินไว้อย่างครบถ้วนแล้ว โดยสามเหลี่ยมการเงิน สามารถแบ่งเป็นภาพใหญ่ 3 ระดับ ได้แก่

1. Liquidity Management

การบริหารสภาพคล่อง คือ ฐานแรกสุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด เปรียบเสมือนการจัดเตรียมอาหารให้สามารถกินอยู่ได้ทุกวันอย่างไม่ขัดสน และยังมีการเตรียมแผนเพื่อรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น โดยจะประกอบไปด้วยการวางแผนบริหารสภาพคล่อง การจัดการกระแสเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
การบริหารสภาพคล่องจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญก่อนก้าวไปวางแผนอื่น ๆ จุดประสงค์ในส่วนนี้ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราจะมี “เงินสด” ใช้ได้อย่างไม่ขาดมือ และลดความเสี่ยงที่เราจะไปต้องไปหยิบยืมแหล่งเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูง หรือจำเป็นต้องขายสินทรัพย์แบบฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดทุนอย่างหนักได้ 

2. Risk Management

การบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของเรา เป็นสิ่งที่ต้องทำอันดับที่สอง ซึ่งวิธีที่นิยมมากที่สุดก็คือ การบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกัน เสมือนเป็นการล้อมรั้วปกป้องภัยพิบัติ แม้ว่าบางคนอาจจะมีความเสี่ยงต่ำ แต่การป้องกันย่อมมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต
ซึ่งความเสี่ยงที่เราต้องจัดการนั้น ก็จะมีตั้งแต่ การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงในกรณีที่เรามีอายุยืนมากเกินไปก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน

3. Accumulation & Investment 

การสะสมความมั่งคั่งและการลงทุน เป็นส่วนเพิ่มเติมหลังจากที่แผนอื่น ๆ ทุกอย่างพร้อมแล้ว การขยับขยายและบริหารเงินส่วนเกินจะช่วยให้เงินของเราได้เติบโตสร้างดอกผลออกมา เพื่อนำไปใช้ดูแลคนที่เรารัก ดูแลตนเองเมื่อรายได้หยุดลงในยามเกษียณ
แผนการเงินที่น่าสนใจในส่วนนี้ ได้แก่ แผนเกษียณอายุในส่วนที่เกินความต้องการพื้นฐาน แผนการศึกษาของบุตร แผนการสร้าง Passive Income เพื่อให้เกิดอิสรภาพทางการเงิน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ “การวางแผนภาษี (Tax Planning)” เพื่อให้เราจ่ายภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจาก ณ ปัจจุบันทางกรมสรรพากรเองก็มี “ค่าลดหย่อน” ต่าง ๆ ที่เปิดให้เราสามารถใช้สิทธิเพื่อจ่ายภาษีน้อยลงได้ ในระหว่างที่เราจัดการแผนทั้งหมดในสามเหลี่ยมการเงิน การวางแผนภาษีจะถูกสอดแทรกไปในแผนต่าง ๆ เพราะรัฐเองก็อยากให้เรามีสุขภาพการเงินที่ดี จึงสนับสนุนสินทรัพย์ทางการเงินและนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เรามีการลงทุน และเกิดการวางแผนทางการเงินของเราให้ดีขึ้น
เมื่อเราติดกระดุมเม็ดแรกได้อย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายการเงินก่อน-หลังได้ รวมถึงจะรู้ได้ทันทีว่า เราควรจะเก็บเงินไปวางไว้ตรงไหนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน และหลังจากที่เราเข้าใจในภาพรวมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นเราก็จะค่อย ๆ เจาะลึกในบทความต่อไปในแต่ละขั้นตอนของสามเหลี่ยมการเงิน ว่าเราจะมีการจัดการและบริหารอย่างไรกันบ้าง


info-LHBank-(1).jpg

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 
  • ประกันสุขภาพมีแบบไหนบ้าง ?
  • เกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ คืออะไร ?
  • เป้าหมายชีวิต คิดเป็นเงินเท่าไหร่ ?
  • หลักการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง คืออะไร ?
  • ความเสี่ยงแบบไหน ที่เราควรทำประกัน ?
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง