มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์
มุมมองต่อตลาดการลงทุนสหรัฐฯ : เครื่องมือ FED Watch Tool พบว่าการประชุมธนาคารกลาง (เฟด) ที่จะเกิดในวันที่ 14-15 มิ.ย. 23 ตลาดคาดถึงการคงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากที่ผ่านมาสถานการณ์วิกฤตแบงค์ล้ม และจำนวนบริษัทในสหรัฐฯ ขอยื่นล้มละลาย ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนมากสุดตั้งแต่ปี 2010 กำลังยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเปราะบาง พร้อมกับสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านช่วงของเศรษฐกิจเข้าสู่จุดต่ำสุด ซึ่งแน่นอนว่าในปีนี้ตลาดสินทรัพย์ลงทุนประสบกับความผันผวน แกว่งตัวในกรอบขาลง ทาง LH Bank Advisory แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น เข้าสู่ตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรักษาสภาพคล่อง และเพิ่มสัดส่วนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิต Investment grade ขึ้นไป เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน
มุมมองต่อตลาดการลงทุนจีน : ภาวะเงินเฟ้อลดลง กำลังเผชิญความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) มากขึ้น ซึ่งทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าทางการจีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย GDP ปี 2566 ที่ 5%
ช่วงเปลี่ยนผ่านช่วงความผันผวน
LH Bank Advisory เชื่อว่าประเด็นข้อถกเถียงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง มีโอกาสกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะในเวลานี้ตลาดได้รับรู้ถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ขณะที่เครื่องมือที่จะช่วยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงจำกัด ไม่ว่าจะใช้งบประมาณจากภาครัฐฯ อัดฉีดเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ติดประเด็น Debt Celling ที่ยืดเยื้อ และถ้าเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยนโยบายการเงิน ก็จะขัดแย้งกับความพยายามควบคุมเงินเฟ้อ
หากนักลงทุนพิจารณาภาพรวมทางเศรษฐกิจ พบว่าแนวโน้มผลผลิตมวลรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง สวนทางอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ และจากทฤษฎีของ Phillip Curve ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อ ผกผันกับ อัตราว่างงาน ได้บ่งชี้ว่าประเด็นปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังไม่สามารถคลี่คลายจนเข้าสู่เป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีราคาสินค้าที่มีความหนืดของการเปลี่ยนแปลงด้านราคา (Sticky Price CPI) ยังอยู่สูงถึงระดับ 6.32% ทั้งนี้ LH Bank Advisory ประเมินจากเครื่องมือ FED Watch Tool พบว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะเกิดในวันที่ 14-15 มิ.ย. 23 ตลาดยังคาดการณ์คงระดับอัตราดอกเบี้ยที่ 5.25% เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์วิกฤตแบงก์ล้ม และรายงานจำนวนบริษัทในสหรัฐฯ ขอยื่นล้มละลาย ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เป็นจำนวนมากสุดตั้งแต่ปี 2010 กำลังยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเปราะบาง พร้อมกับสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านช่วงของเศรษฐกิจเข้าสู่จุดต่ำสุด
การยื่นขอล้มละลายของบริษัทฯ ทำให้จำนวนเปิดรับตำแหน่งงานใหม่ที่ลดลง และการเลิกจ้างงานมากขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ของเศรษฐกิจในช่วงเข้าสู่จุดตกต่ำ เป็นเหตุให้ LH Bank Advisory ประเมินรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรต่ำกว่า 200,000 งาน ขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯมีโอกาสปรับสูงขึ้นจาก 3.4% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่วงเวลาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงสู่จุดต่ำสุด จะเป็นช่วงเดียวทิศทางของเงินเฟ้อปรับลดลง ซึ่งแน่นอนตลาดหุ้นจะประสบกับความผันผวนไปตลอดปีนี้ และมีทิศทางการแกว่งตัวของราคาหุ้นในกรอบขาลง ทาง LH Bank Advisory แนะนำใช้ช่วงตลาดหุ้นฟื้นตัวเป็นโอกาสให้ขายทำกำไร และสำหรับนักลงทุนที่มีต้นทุนของพอร์ตลงทุนที่สูง สามารถทยอยขายออกจากการหุ้น (Trim) โดยเฉพาะ หุ้นที่มีงบการเงินเปราะบาง เข้าสู่ตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรักษาสภาพคล่อง และทยอยเพิ่มสัดส่วนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิต Investment grade ขึ้นไปเพื่อสร้างโอกาสทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและลดความผันผวนของพอร์ต
จีนกำลังเผชิญแรงกดดันเงินฝืด
จีนอยู่ในภาวะเงินเฟ้อลดลง และกำลังเผชิญความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) มากขึ้น หลังเงินเฟ้อ CPI ของจีน เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% โดยชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.7% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (PPI) ติดลบ 3.6% ต่อเนื่องติดต่อกัน สะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศจีนที่อ่อนแอลง แม้จีนจะยกเลิกนโยบาย Zero-Covid แต่ผู้คนก็ยังมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องจ่ายด้วยเงินก้อนจำนวนมาก เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เงินเฟ้อระดับที่เหมาะสม อยู่ที่ราว 1.5–3% ถือว่าดีต่อเศรษฐกิจ จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้บริโภคจะใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตาม
ธนาคารกลางจีนยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี Loan Prime Rate (LPR) ประเภท 1 ปีไว้ที่ระดับ 3.65% ซึ่งเป็นการคงนโยบายเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน จากปัญหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐที่มีอยู่มาก เป็นปัจจัยให้ทางการจีนคงอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินหยวน ส่งผลให้ทางการจีนเลือกที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายด้วยการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคาร
แม้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเดือนเม.ย. ขยายตัว 11.8% YoY สะท้อนการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านใหม่เดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% MoM ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของ GDP ซึ่งการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของวัตถุดิบ เช่น เหล็กและซีเมนต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน
LH Bank Advisory ประเมินว่าทางการจีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย GDP ปี 2566 ที่ 5% หลังตัวเลขนำเข้าเดือนเม.ย. หดตัว 7.9%, PPI ชะลอตัวมากสุดในรอบ 3 ปี และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีก ต่ำกว่าคาด สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์การเมือง (Geopolitical Risk) ส่งผลให้นักลงทุนลดสัดส่วนการถือครองหุ้นจีน อย่างไรก็ตาม LH Bank Advisory มองว่าตลาดหุ้นจีนเคลื่อนไหวออกข้าง (Sideway) หรือปรับฐานในระยะสั้น โดยยังคงมุมมองบวกต่อการลงทุนในจีน เนื่องจากด้าน Valuation ของหุ้นจีน (CSI300) ถูกกว่าหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) ถึงราว 20% และคาดว่าตลาดหุ้นและเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
Announcement on 29 May 2023