Personal > LH Bank Advisory > Weekly Report > Wealth Weekly Report 24-07-2023

Wealth Weekly Report 24-07-2023
 

มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์

  • สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐกลับมาปะทุอีกครั้ง ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าความตึงเครียดของห่วงโซ่อุปทานจะส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อในระยะสั้น จากนั้นธุรกิจจะปรับกลยุทธ์กระจายห่วงโซ่การผลิตไปในประเทศต่างๆ มากขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น อยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) อยู่แล้ว จะเกิดการปรับฐานในระยะสั้น ขณะที่การปรับเกณฑ์คำนวณน้ำหนักการลงทุนของดัชนี Nasdaq 100 มีการปรับสัดส่วนไม่มากและกระทบหุ้นเทคขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง จึงมีผลกระทบต่อราคาหุ้นจำกัด ดังนั้น สามารถใช้จังหวะที่ราคาหุ้นมีการปรับฐานเป็นโอกาสในการทยอยสะสมได้
  • ฤดูกาลประกาศผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ กำลังเริ่มขึ้น ตลาดจะเริ่มปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลง เนื่องจากอำนาจต่อรองราคาของบริษัทหายไป หลังผลของการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด กำลังส่งผลกดดันให้อุปสงค์ของผู้บริโภคชะลอตัวลง จนทำให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัท ปรับลดลง และเมื่อทาง LH Bank Advisory ประเมิน Earning Yield Gap ที่ลดลงใกล้ระดับ 1% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20 ปี  บ่งชี้ว่าผลตอบแทนจากการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่มีราคาแพงเกินกว่าค่าเฉลี่ยปกตินี้ไม่น่าสนใจ แม้ผลตอบแทนจากตลาดจะมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่เป็นระดับที่ไม่คุ้มกับความเสี่ยง
HOT ISSUE TO WATCH THIS WEEK

สงครามเทคโนโลยี

การมาของกระแส AI หนุนให้กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดและส่งผลให้กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเปรียบเสมือนสมองและหัวใจสำคัญของ AI มียอดขายและผลประกอบการเติบโตอย่างมาก ซึ่งห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลกมีการผลิตที่กระจุกตัว เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้กำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้มีการปรับประมาณการกำไร (Upward Revision) เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก AI

ขณะที่สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากจีนได้ประกาศควบคุมการส่งออกแกลเลียม (Gallium) และเจอร์เมเนียม (Germanium) ซึ่งเป็นโลหะที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สื่อสารโทรคมนาคม และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโต้สหรัฐ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ที่สั่งห้ามการส่งออกชิปและเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิประดับก้าวหน้าไปยังจีน อย่างไรก็ตาม ในการนำมาใช้งานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์บางด้าน แกลเลียมสามารถนำเอาซิลิคอนหรืออินเดียม (Indium) มาใช้แทนได้ และเจอร์เมเนียมสามารถใช้สังกะสี เซเลไนด์ (Zinc selenide) และแก้วเจอร์เมเนียม (Germanium glass) แทนได้ แต่แร่ธาตุทดแทนอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลง

ผลกระทบที่เกิดจากนโยบายดังกล่าวคือ ในระยะสั้นราคาแกลเลียมและเจอร์เมเนียมจะเพิ่มสูงขึ้นจากการเร่งกักตุนวัตถุดิบของผู้ผลิตต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ส่วนในระยะยาว ราคาที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดการผลิตและการแข่งขันทางด้านต้นทุนมากขึ้นจากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะต้องใช้เวลา แต่ท้ายที่สุด ตลาดและห่วงโซ่อุปทานจะมีการปรับตัว เพื่อลดการพึ่งพาทางการค้ากับจีน ส่วนผลกระทบของผู้ผลิตชิปของสหรัฐ หลังสหรัฐเพิ่มกฎหมายสกัดการส่งออกชิป AI ไปจีน ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตชิปสูญเสียรายได้ในการส่งออกชิปไปจีน

ทาง LH Bank Advisory ประเมินว่าความตึงเครียดของห่วงโซ่อุปทานจะส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อในระยะสั้น จากนั้นธุรกิจจะปรับกลยุทธ์กระจายห่วงโซ่การผลิตไปในประเทศต่างๆ มากขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น อยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) อยู่แล้ว จะเกิดการปรับฐานในระยะสั้น ประกอบกับการปรับเกณฑ์คำนวณน้ำหนักการลงทุน (Rebalance) ของดัชนี Nasdaq 100 ซึ่งเริ่มมีผลในวันที่ 24 ก.ค. 2566  จะส่งผลโดยตรงต่อกองทุนที่อ้างอิงตามดัชนีดังกล่าว อย่างเช่น Invesco QQQ ETF (QQQ) โดยกลุ่มหุ้น Megacap Tech จะมีแรงขายเพื่อลดน้ำหนักตามเกณฑ์ แต่เนื่องจากการ Rebalance ครั้งนี้มีการปรับสัดส่วนไม่มากและกระทบหุ้นเทคขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง และไม่ได้ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้น  จึงมีผลกระทบต่อราคาหุ้นจำกัด ดังนั้น สามารถใช้จังหวะที่ราคาหุ้นมีการปรับฐานเป็นโอกาสในการทยอยสะสมได้

เงินเฟ้อหาย กำไรหด

ฤดูกาลประกาศผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ กำลังเริ่มขึ้น ทั้งนี้ทาง LH Bank Advisory แสดงหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดจะเริ่มปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาเป็นความจริงที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด ภายใต้สภาวะเงินเฟ้อสูง แต่เมื่อพิจารณาปัญหาของเงินเฟ้อในตอนนั้นเกิดจากผลกระทบของต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น ผนวกกับความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่เร่งตัวขึ้นจากความอัดอั้นการจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วง ล็อกดาวน์ จึงเป็นโอกาสประจวบเหมาะที่บริษัทสามารถทำกำไร เพราะอำนาจต่อรองของลูกค้าอยู่ในระดับต่ำ (Bargaining Power of Customers) จนทำให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัท (Profit Margin) ปรับสูงขึ้นมากกว่าปกติ

หากแต่ในเวลานี้ผลของการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด โดยมีเป้าหมายสู้กับเงินเฟ้อนั้น กำลังส่งผลโดยตรงไปยังความมั่งคั่งของผู้บริโภคสหรัฐฯ จนกดดันให้อุปสงค์ของผู้บริโภคชะลอตัวลง เป็นเหตุให้ความสามารถในการต่อรองราคาของบริษัทหายไป ดังนั้นในครึ่งหลังของปี มีโอกาสที่เห็นตลาดปรับประมาณการยอดขายและกำไรลดลงอย่างมาก ทำให้เหล่าบริษัทต่าง ๆ ต้องพยายามรักษาอัตรากำไร ด้วยการปรับลดต้นทุน โดยเฉพาะ ต้นทุนค่าแรงที่สูงและยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในลำดับถัดไป

จากผลกระทบจากอัตราการเติบโตของกำไรที่ลดลง ส่งผลให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นลดลง โดยการคำนึงถึงผลตอบแทนเทียบกับราคา (P/E) และดูส่วนต่างกับอัตราผลตอบแทนปราศจากความเสี่ยง (Earning Yield Gap) พบว่า การปรับตัวลงมาใกล้ระดับ 1% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20 ปี ต่อเนื่องจากปี 2022 ถือเป็นสัญญาณอันตราย เพราะสภาวะแวดล้อมในตลาดหุ้นแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา จากปัจจัยข้างต้นที่ทางเราบ่งชี้ว่าแนวโน้มการเติบโตกำไรที่มีแรงหนุนจาก Profit Margin กำลังจะหายไป จึงทำให้ผลตอบแทนจากการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่มีราคาแพงเกินกว่าค่าเฉลี่ยปกตินี้ไม่น่าสนใจ แม้ผลตอบแทนจากตลาดจะมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่เป็นระดับที่ไม่คุ้มกับความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงใน Earning Yield Gap ลดลง สามารถบอกถึงแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงที่อยู่ในระดับดึงดูดให้นักลงทุน จึงแนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนในพันธบัตร และตราสารหนี้เอกชนประเภท Investment Grade เพื่อล็อกอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในระดับสูง และลดความผันผวนในช่วงที่ตลาดปรับฐานตามการปรับลดอัตรากำไรที่จะเกิดขึ้น

Weekly Report 24-07-2023

Announcement on 24 July 2023

Related articles