มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์
ในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสผันผวนเพื่อรอผลการประชุมดอกเบี้ยของ FOMC ซึ่งทาง LH Bank Advisory จึงจัดทำกลยุทธ์ “จับโอกาสท่ามกลางฤดูฝน” ขึ้นมา เพื่อมองหาสินทรัพย์ลงทุนที่น่าสนใจในยามตลาดหุ้นผันผวน
China: Learn to manage downside
ภายใต้แรงคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มสูงขึ้นในตลาดการลงทุนช่วงเดือนที่ผ่านมาและสร้างความกังวลต่อนักลงทุนในตลาดอีกครั้ง ในครั้งนี้ LH Bank Advisory สำรวจดูความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนในภาพรวมทุกด้าน (Economic Heat Map) เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจในภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ภาคการบริโภค: ภาพรวมการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศยังอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นจากกลับมาเปิดเศรษฐกิจ โดยสินค้าในกลุ่มค้าปลีกยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แต่กลุ่มการบริโภคในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นน้ำหนักหลักในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ยังตอบสนองต่อการทำนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำได้ยาก อย่างไรก็ตามเมื่อมองถึงนโยบายเพื่อสนับสนุนการบริโภค LH Bank Advisory ยังคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ มากกว่าการมุ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากมีประสิทธิภาพทางนโยบายที่ต่ำกว่า ภาคการค้า: การส่งออกของจีนยังเกินดุลการค้าต่อเนื่อง และปีนี้การส่งของจีนมีการเกินดุลมากสุดตั้งแต่ปี 2017 แม้มูลค่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน แต่สิ่งที่น่าสนใจในเวลานี้ อยู่ที่ธุรกรรมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศมาเป็นหยวน กลับไม่เพิ่มขึ้นตามยอดเกินดุลการค้าดังกล่าว เป็นเหตุให้ทาง LH Bank Advisory มองว่าบริษัทในกลุ่มของการผลิตเพื่อส่งออกของจีนปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งของงบดุลรวมถึงมีสภาพคล่องพร้อมที่จะขยายการผลิต เพียงแต่อาจจะรอให้เงินหยวนเกิดเสถียรภาพก่อนทำการแลกเปลี่ยน ภาคการผลิต: แม้ตัวเลข PMI ด้านการผลิตของจีนจะประกาศออกมาต่ำกว่าตลาดคาด และมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 48.8 จุด ต่ำที่สุดเทียบเท่ากับช่วงที่เกิด COVID-19 ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน แต่หากมองให้ลึก บริบทของการผลิตที่เปลี่ยนไปจากช่วง COVID-19 เช่นการบริโภคที่ฟื้นตัวกลับมาทั้งภายในประเทศจีนและความต้องโลก รวมถึงข้อจำกัดในการผลิดที่ลดลงเช่นการใช้กำลังแรงงาน ก็ยิ่งทำให้น่าคิดว่าการประกาศตัวเลขที่ปรับตัวลงเทียบเท่ากับช่วง COVID-19 นั้นเป็นผลมาจากการคำนวณหรือไม่ ภาพรวมการปรับตัวลดลงของตัวเลข PMI ด้านการผลิตของจีนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก Base Effect ที่ตัวเลขภาคการผลิตปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงใน Q1/2023 และหากดูที่ตัวเลขการผลิต (Industrial Production) ในปัจจุบันยังพบว่าภาคการผลิตสำคัญเช่นรถยนต์ยังมีการเติบโตอยู่สูงถึง 60% ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการบริโภคภายในประเทศได้อย่างดี จากปัจจัยข้างต้นทาง LH Bank Advisory ประเมินว่ารัฐบาลจีนจะใช้เครื่องมือทางการคลังเช่นการลดภาษีนิติบุคคลมากระตุ้นเศรษฐกิจจากฝั่งภาคการผลิตและลงทุนเอกชน รวมถึงการเตรียมอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นการบริโภค เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนให้ขับเคลื่อนต่อจนบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ที่ 5% พร้อมกับปรับประมาณการกำไรล่วงหน้า 12 เดือน ของ MSCI China A Onshore Index ขึ้นถึง 20% MoM จึงเป็นเหตุให้ในเวลานี้ มูลค่าของตลาดการลงทุนจีนมีความน่าสนใจ และมีโอกาสสร้างกำไรส่วนต่างในระยะยาว ขณะที่ในระยะสั้นตลาดหุ้นจีนยังมีความผันผวน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนถูกกดดันจากการบริโภคจีนยังคงชะลอตัว
Bonds are back?!
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ปรับตัวขึ้นสะท้อนความน่าจะเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งสู่ระดับ 5.25-5.50% นอกจากนี้ การขยายเพดานหนี้สหรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐจะต้องออกพันธบัตรจำนวนมาก เพื่อมาชำระหนี้ จะส่งผลให้ Bond Yield เพิ่มขึ้น และกดดันให้ราคาพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory มองว่าราคาพันธบัตรระยะยาวอยู่ในช่วงของการสร้างฐานบนแนวโน้มขาขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี สามารถฟื้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่จุดสูงสุด และจากแนวโน้มที่เศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ล้วนบ่งชี้ว่า การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะกลับมาสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น อ้างอิงรายงานของ PIMCO บริษัทจัดการกองทุนระดับโลก ได้วิเคราะห์กรณีเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย 6 เดือน หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย (Base Case Scenario) บ่งชี้ว่าผลตอบแทน 12 เดือนสำหรับพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จะทรงตัว ขณะที่ S&P500 จะปรับตัวลงอย่างรุนแรง และหากเฟดลดอัตราดอกเบี้ยภายใน 6 เดือนหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย หุ้นจะปรับตัวขึ้นในช่วง 12 เดือนหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย แต่พันธบัตรยังคงสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตราสารทุน ทั้งนี้ ตลาดได้มีมุมมองต่อดอกเบี้ยว่าเฟดอาจจะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ทาง LH Bank Advisory มองว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงต่อไป เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐในปัจจุบันยังตึงตัวอย่างมาก และแม้เงินเฟ้อจะส่งสัญญาณชะลอตัว โดยค่าเช่าบ้านในเดือนเม.ย. 2023 เพิ่มขึ้น 0.5%MoM แม้จะลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 1 ใน 3 ของตะกร้าเงินเฟ้อ จึงยังเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อของสหรัฐ ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัว และมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อที่มีความเข้มงวดขึ้น จะสร้างแรงกดดันต่อการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยจากสถิติบ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเริ่มขึ้นประมาณ 2 ปีถึง 2 ปีครึ่ง หลังการเริ่มการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2022 อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่เร็วขึ้นกว่ากรอบเวลาเฉลี่ยในอดีต ดังนั้นทาง LH Bank Advisory แนะนำให้นักลงทุนลดสัดส่วนในหุ้น โดยเน้นหุ้นคุณภาพสูงและกระจายการลงทุนเพื่อลดความผันผวน และเพิ่มสัดส่วนในตราสารหนี้ เพื่อล็อกผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ และมีโอกาสสร้างกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ในกรณีที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย
Announcement on 12 June 2023