ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหรือโอกาส ต่างก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำ ทำให้เมื่อเราพูดถึงเรื่องการวางแผนการเงินเมื่อไหร่ เรื่อง “การบริหารสภาพคล่อง” จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เพราะถึงแม้เราจะวางแผนการเงินได้ดีมากแค่ไหน แต่ถ้าลืมจัดการด้านสภาพคล่อง ก็อาจทำให้แผนการเงินสะดุดและนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ในอนาคตได้ การทำความเข้าใจในการบริหารสภาพคล่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร
สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) นั้นหมายถึง ความสามารถในการแปลงสินทรัพย์กลับเป็นเงินสด การที่เรามีสภาพคล่องสูง นั่นหมายความว่า สินทรัพย์ที่มีนั้นสามารถแปลงเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว สามารถอยู่ในรูปแบบสินทรัพย์ทางการเงินอย่างเงินสด เงินฝากออมทรัพย์ หรือในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนตลาดเงิน เพราะสินทรัพย์เหล่านี้สามารถแปลงกลับเป็นเงินสดได้
การบริหารสภาพคล่องมีไว้เพื่ออะไร
การวางแผนการเงิน สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องคิดถึงเสมอก็คือ “ความเสี่ยง” เพราะในชีวิตประจำวัน มักมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งความเสี่ยงเรื่องการเงินอันดับแรก ๆ ที่ต้องระวัง คือ ความเสี่ยงในการสูญเสียรายได้อย่างการตกงาน
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและชัดเจนที่สุด ในวิกฤตนั้นเราอาจจะตกงานหรือโดนลดเงินเดือนได้ ซึ่งรายจ่ายของเราส่วนใหญ่นั้นแทบไม่ได้ลดลงเลย และสิ่งที่ตามมา คือ ไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน
เมื่อสภาพคล่องขาดมือจนต้องไปกู้ยืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องการเงินด่วน ก็จะถูกคิด “ดอกเบี้ย” ในอัตราที่สูง หรือในบางกรณีถ้าไม่สามารถหยิบยืมได้ เราอาจต้องพิจารณาขายสินทรัพย์ออกไป และหากต้องขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ อย่างเช่น บ้านหรือที่ดิน ก็จะทำให้เราโดนกดราคา ส่งผลให้ขาดทุนหนักมากกว่าเดิม
ดังนั้นการที่เรามีเงินสดหรือมีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในระดับที่เหมาะสมนั้น จะช่วยทำให้เรามีเงินสำรองมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นของแต่ละคนได้
เราควรมีสภาพคล่องเท่าไหร่?
การมีสภาพคล่องนั้นควรมีในระดับที่พอเหมาะ มีน้อยหรือมากจนเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะว่าแหล่งเก็บเงินในส่วนนี้ จำเป็นที่จะต้องเก็บไว้ในที่ที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งต้องแลกมากับผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำ
โดยปกติแล้ว เราควรจะมีสภาพคล่องหรือเงินสดสำรองอยู่ที่ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน นั่นหมายความว่าหากรายได้ของเราหยุดลง เรายังมีเงินสดที่สามารถนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายในทุก ๆ เดือนได้อย่างน้อยอีก 6-12 เดือน เพื่อที่จะมีเวลาให้เราปรับตัว หาวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ เช่น หางานใหม่ หารายได้ช่องทางใหม่ เพื่อมาทดแทนแหล่งรายได้เดิม
คำถามที่น่าสนใจต่อมา คือ แล้วเราควรมีแค่ 6 เดือนก็เพียงพอ หรือจำเป็นต้องมีมากถึง 12 เดือน
ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแหล่งรายได้ของเรา หากเราลองประเมินแล้วพบว่าโอกาสที่รายได้เราจะขาดหาย หรือโอกาสที่เราจะตกงานมีไม่สูงนัก และหากตกงานจริงก็สามารถหาทดแทนใหม่ได้ไม่ยากเท่าไหร่ ก็อาจจะมีเพียง 6 เดือนก็ถือว่าเพียงพอ
แต่หากโอกาสตกงานสูง และเมื่อตกงานจริงอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่จะสามารถหางานใหม่ได้ แนะนำว่าควรมีไว้ในระดับที่สูงถึง 12 เดือน ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า
เมื่อเรามีสภาพคล่องที่มากพอก็จะทำให้มีความมั่นใจในสุขภาพทางการเงิน และหากมีปัญหาเกิดขึ้น เราก็จะมีเงินสดสำรองเพียงพอที่จะช่วยเพิ่มเวลาในการแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยไม่ไปกระทบกับสินทรัพย์ทางการเงิน หรือการลงทุนระยะยาวอื่น ๆ ที่เราวางแผนไว้ ทำให้เราสามารถเติบโตทางการเงินได้อย่างราบรื่นและไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้
ประกันชีวิตที่มีสภาพคล่องมากที่สุดคือ LH Bank Flexi Invest Link เป็นประกันควบการลงทุน เราสามารถหยุดพักชำระเบี้ยประกันได้หรือใช้มูลค่าหน่วยลงทุนมาช่วยลดภาระขอเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มเติม ในส่วนด้านการลงทุน ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ และยังสามารถถอดหน่วยลงทุนออกมาได้อีกด้วย ถือว่าเป็นประกันที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุ