Personal > LH Bank Advisory > Money Guru > เป้าหมายชีวิต คิดเป็นเงินเท่าไหร่ ?

เป้าหมายชีวิต คิดเป็นเงินเท่าไหร่ ?
 

เคยมีเป้าหมายอะไรที่อยากได้ในชีวิตประจำวันกันบ้างมั้ย? เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยอยากได้ของอันนั้น อยากจะพาครอบครัวไปรับประทานอาหารร้านนี้ อยากไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ และแน่นอนว่าความฝันกว่า 99.99% นั้นมีราคาของมันเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่เราอยากได้ ร้านอาหารที่เราอยากไปรับประทาน ประเทศที่เราต้องการไปเที่ยวก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าขนาดของความฝันมากน้อยแค่ไหน จะเห็นได้ว่าเราสามารถเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตที่เราต้องการให้จับต้องได้มากขึ้นด้วยการ “เปลี่ยน” ทุกเป้าหมายชีวิตให้เป็นเป้าหมายทางการเงิน ที่จะช่วยทำให้เรารู้ “ราคา” ของเป้าหมายชีวิตว่ามีราคาเท่าไหร่กันแน่

เปลี่ยนเป้าหมายชีวิตเป็นแผนการเงินอย่างไร?

ก่อนที่เราจะเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตเป็นเป้าหมายทางด้านการเงินได้ เราจะต้องรู้ก่อนว่า “เป้าหมายทางการเงิน” คือ การวิเคราะห์เป้าหมายและความต้องการทางการเงิน เพื่อสร้างแผนปฏิบัติและลงมือทำ ให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยหัวใจของเป้าหมายทางการเงินที่ดี ควรมีคุณสมบัติ 5 อย่าง ได้แก่
  1. มีความชัดเจน (Specific)
  2. ระบุจำนวนเงินได้ (Measurable)
  3. มีวิธีการที่จะทำให้สำเร็จได้ (Achievable)
  4. เป้าหมายจะต้องมีความเป็นไปได้จริง (Realistic)
  5. มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน (Time Bound)
หรือที่เราเรียกกันว่าเป้าหมายแบบ “SMART” นั่นเอง การตั้งเป้าหมายแบบ SMART จะช่วยให้มีระเบียบแบบแผน วิธีการและเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้เรารู้ว่าเราควรต้องทำอะไร เมื่อไหร่ ด้วยวิธีไหน และแผนการจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เมื่อทุกอย่างมีขั้นตอนที่ชัดเจนแล้วก็ทำให้เราสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสม่ำเสมอเป็นไปตามแบบแผนได้ และถึงแม้ว่าเราจะหลุดออกนอกลู่นอกทาง เมื่อเรากลับมาดูแผนก็จะทำให้รู้ว่าเราต้องหันกลับไปทิศไหน สนใจที่อะไร ก็ทำให้เรากลับมาวิ่งตามแผนได้เหมือนเดิม

ตัวอย่างยอดนิยม เช่น ถ้าหากมีแผนที่อยากจะสร้างครอบครัวที่มั่นคง สิ่งที่หลาย ๆ คนมองหาก็คงหนีไม่พ้น (1) เก็บเงินแต่งงาน (2) เก็บเงินซื้อรถ (3) เก็บเงินผ่อนบ้าน โดย 3 ค่าใช้จ่ายหลักที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อเราได้เป้าหมายชีวิตของเราแล้วเราก็จัดการเปลี่ยนเป็นแผนการเงินโดยทันที

ถ้าใครวางแผนที่จะแต่งงานในปีหน้า เราก็ต้องไปดูค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากเราต้องจัดงานแต่งงานจริง ๆ ว่าอยู่ที่เท่าไหร่ สมมติลองคิดคำนวณทุกอย่างออกมาแล้ว จะต้องใช้เงิน 500,000 บาท แล้วตอนนี้มีเงินเก็บอยู่ที่ 300,000 บาท การจะเก็บเงินให้ครบตามเป้าหมายภายใน 1 ปี ก็แปลว่าเราต้องเก็บเพิ่มประมาณ 17,000 บาทต่อเดือนก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งใจได้

จะเห็นว่าตัวอย่างนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตเป็นเป้าหมายทางด้านการเงินที่ดี เพราะมีความชัดเจน ระบุจำนวนเงินได้ รวมถึงสามารถกำหนดวิธีการที่ช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ มีเวลาปฏิบัติที่แน่นอนและมีความเป็นไปได้ไม่เพ้อฝันอีกด้วย เมื่อเรามีเป้าหมายทางการเงินที่ดีแล้วก็จะช่วยทำให้เรารู้แผนการเดินทางที่จะช่วยทำให้เราคว้าเป้าหมายที่ต้องการมาได้
 

ประโยชน์ของการมีเป้าหมายทางการเงินที่ดี คืออะไร?

ประโยชน์ของเป้าหมายทางการเงินที่ดีนั้นจะช่วยทำให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน มีตัวเลขชี้วัด แล้วยังช่วยในเรื่องการตรวจสอบได้ว่าเรามุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่และต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เราเกิดการเติบโตและพัฒนาตัวเอง และสามารถทำกิจกรรมที่ตั้งใจไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ

ถึงแม้เราจะวางแผนมาเป็นอย่างดีแต่อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้น การหมั่นทบทวนแผนและตรวจสอบตัวเองว่ายังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ และต้องมีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนแผนและเป้าหมายไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอีกด้วย ในอนาคตเป้าหมายชีวิตของเราอาจมีราคาหรือมูลค่าเพิ่มจากอดีตก็เป็นได้

หมายเหตุ – สำหรับผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝากที่แนะนำให้ใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐานอย่างง่าย ที่ช่วยให้รู้จักการวางแผนให้บรรลุเป้าหมายทางด้านการเงิน ก็คือ เงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน และ 36 เดือน ซึ่งมีลักษณะเป็นการฝากเงินในจำนวนเท่า ๆ กันทุก ๆ เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝากก็จะมีเงินก้อนเพื่อใช้จ่ายตามเป้าหมาย และที่สำคัญยังได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก (จำนวนเงินฝากรวมสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท) จึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ ให้บรรลุเป้าหมายทางด้านการเงิน

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 
  • ประกันสุขภาพมีแบบไหนบ้าง ?
  • เกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ คืออะไร ?
  • เป้าหมายชีวิต คิดเป็นเงินเท่าไหร่ ?
  • หลักการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง คืออะไร ?
  • ความเสี่ยงแบบไหน ที่เราควรทำประกัน ?
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง